BGRIM-GULF ร่วง ชอตเซลหนัก ติดบ่วงหุ้นแพง ระวังถูกทิ้ง

HoonSmart.com>> ไวรัสระบาดกลับมารบกวนหุ้นไทยและภูมิภาคอีกครั้ง ต่างชาติทิ้งกว่า 1,300 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าเจอเต็มเปา ราคาขึ้นแรงไป บีกริม- กัลฟ์ ถูกชอร์ตเซลซ้ำเติม ติด 2 ใน 8 หุ้นที่ บล.เอเซียพลัสเตือนให้หลีกเลี่ยง เสี่ยงถูกขายทำกำไร อิเล็กทรอนิกส์ เข้าข่าย 2 บริษัท DELTA-HANA ส่วน KCE รอด แต่กลับร้อนแรง ตีจากลบปิดพุ่ง 10% หลังพบนักวิเคราะห์มองบวกตั้งแต่ไตรมาส 1  ปีนี้กำไรสวยงาม

หุ้นไทยลดลงตามภูมิภาคตามแรงกดดันยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น แม้ว่าพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 อาจเบิกจ่ายได้เร็วกว่าที่คาดไว้ก็ตาม ส่งผลให้ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,532.77 จุด ติดลบ 7.07 จุดหรือ -0.46% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 46,419 ล้านบาท ต่างชาติกลับมาขายกว่า 1,323 ล้านบาท รายย่อยซื้อ 1,739 ล้านบาท ในวันที่ 13 ก.พ. 2563

แรงขายกระจายในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นไฟฟ้า บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ลดลง 1.50 บาทหรือ 1.91% ปิดที่ 77 บาท แม้ว่าผู้บริหารยืนยันว่ากำไรในปี2563 จะเติบโตขึ้นมากก็ตาม รวมถึงหุ้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ปิดที่ 57.75 บาท ติดลบ 1.75 บาทหรือ 2.94% และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) ไหลลง 1.50 บาทหรือ 0.78% ปิดที่ 192 บาท

สาเหตุที่นักลงทุนเทขายหุ้นไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนมาก นอกจากราคาปรับตัวขึ้นมาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว  ยังถูกขายล่วงหน้าออกมาจำนวนมาก (ชอร์ตเซล) โดยวันที่ 12 ก.พ. BGRIM ถูกชอร์ตเซลกว่า 2 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.53% ของปริมาณการซื้อขายในตลาด 119 ล้านหุ้น ไม่รวมการชอร์ต BGRIM-R อีกกว่า 1 ล้านหุ้น สัดส่วน 8% ส่วน GULF ถูกชอร์ตเซลกว่า 5 แสนหุ้น สัดส่วน 12% และ GULF-R อีกเกือบ 2 แสนหุ้น สัดส่วน 4.21% แรงชอร์ตเซลยังสูงอย่างต่อเนื่องในวันที่ 13 ก.พ. 2563

บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส(ASP) ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้น 8 ตัวที่ราคาขึ้นแรงกว่าตลาด เสี่ยงถูกขายทำกำไร โดยอยู่ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ไฟฟ้า กลุ่มเช่าซื้อ และอิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนหุ้นไฟฟ้าทั้ง GULF และ BGRIM ราคาค่อนข้างเต็มมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2563 ที่ 56 บาท และ 140 บาทตามลำดับ โดยให้อัตราผลตอบแทนปันผลในปีนี้ไม่ถึง 1% จากในอดีตที่สูงกว่า 5% ทั้งนี้ GULF มี P/E สูงกว่า 80 เท่า

กลุ่มเช่าซื้อที่ต้องระวัง มี 4 บริษัท ได้แก่ SAWA,JMT,SINGER,THANI ราคาหุ้นขึ้นมารับดอกเบี้ยต่ำ แต่ธุรกิจยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน

กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คือ หุ้น DELTA และ HANA ฝ่ายวิจัยฯมองว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯ และโรงงานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจีน จะได้รับผลกระทบคล้ายกับโรงงานเจียซิงของ HANA พนักงานยังกลับมาทำงานไม่เต็มที่มีผลต่อกำลังการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯในไทยด้วย ถือเป็นความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มฯในปี 2563 โดยผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯไทยมีรายได้จากจีน ดังนี้ HANA 18%, DELTA 14%, KCE 10%, SVI 5%

คำเตือนของบล.เอเซียพลัส ไม่รวมหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ ( KCE ) ซึ่งราคาวิ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรง และสูงกว่าราคาเป้าหมาย  โดยเฉพาะในช่วงบ่ายของวันที่ 12 ก.พ. ราคาตีกลับจากติดลบขึ้นมาปิดที่ 24.70 บาท+ 2.30 หรือ 10.27% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2,741 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ 7 ราย ให้ราคาเฉลี่ย 18.53 บาทราคากลาง 17.35 บาท และมีเพียงบล.หยวนต้าที่แนะนำ ให้ซื้อ เป้าหมาย 26 บาท คาดอัตราผลตอบแทนปันผล 4.1%

ปัจจัยที่ดันราคาหุ้น KCE พุ่งแรง เกิดจากช่วงบ่ายผู้บริหารได้ประชุมกับนักวิเคราะห์  โดยบล.ฟินันเซีย ไซรัสประเมินว่าผลออกมาทางบวก เริ่มเห็นคำสั่งซื้อกลับมาฟื้น 8-9% ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2563 โดยไม่ได้รับผลกระทบจากซัพพลายเชน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่โดนกระทบจากโคโรนาไวรัสในจีน

ผู้บริหารดูมั่นใจมากขึ้นและยังตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 10-15% หวังเติบโตที่สินค้าใหม่อย่าง HDI และ Radar คาดกำไรจะกลับมาฟื้นในไตรมาส 1 และค่อยๆดีขึ้นในไตรมาสถัดๆไป อยู่ ระหว่างทบทวนกำไรปีนี้ ราคาหุ้นปรับขึ้นมาแรง ควรระมัดระวังในการเก็งกำไร