GPSC ปี 62 กำไร 4 พันลบ. เติบโต 21%

HoonSmart.com>> “โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่” ปี 62 กำไรสุทธิ 4,060 ล้านบาท เติบโต 21% จากปีก่อน กวาดรายได้ 6.65 หมื่นล้านบาท พุ่ง 168% รับรู้รายได้โครงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จากศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 (NL1PC) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL)

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 กำไรสุทธิ 4,060.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.25 บาท เพิ่มขึ้น 702 ล้านบาท หรือ 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 3,359.19 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.24 บาท

สาเหตุกำไรเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรับรู้ผลประกอบการจากโครงการที่เข้าลงทุนและโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2562 จากศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 (NL1PC) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) ถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายการเข้าซื้อกิจการ GLOW

อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ที่ไม่รวมค่าตัดจำหน่ายจากส่วนต่างมูลค่ายุติธรรมและมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์สุทธิของ GLOW (Adjusted Net Income) มีจำนวน 5,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,818 ล้านบาท หรือ 54% ที่สะท้อนผลกำไรจากการดำเนินงานอย่างแท้จริง

สำหรับรายได้จากการดำเนินงานปี 2562 จำนวน 66,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41,682 ล้านบาท หรือ 168% จากปี 2561 โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้โรงไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11,979 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP จาก GLOW เพิ่มขึ้น 12,232 ล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการ GLOW ในปี 2562

อย่างไรก็ตามรายได้รวมของโรงไฟฟ้าศรีราชาปรับตัวลดลง 253 ล้านบาท เนื่องมาจากรายได้ค่าพลังงาน (Energy Payment: EP) ที่ปรับตัวลดลง ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. แม้ว่าจะมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) เพิ่มขึ้นจากชั่วโมงความพร้อมจ่ายตามสัญญาที่มากกว่าปี 2561

รายได้ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29,716 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโรงไฟฟ้า SPP จาก GLOW เพิ่มขึ้น 28,739 ล้านบาท เนื่องจากปี 2561 ยังไม่ได้เข้าซื้อกิจการ GLOW และรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโรงไฟฟ้า SPP จาก GPSC เพิ่มขึ้น 977 ล้านบาท ตามปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่รายได้ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอื่นๆ ปรับตัวลดลง 13 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากรายได้จากธุรกิจรับเหมาบริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลดลงตามแผนงาน แม้ว่ารายได้จากการขายน้ำเย็นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น

ด้านต้นทุนขายสินค้าและต้นทุนการให้บริการปี 2562 มีจำนวน 47,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,376 ล้านบาท หรือ 159% จากปี 2561