HoonSmart.com>>บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สยกหุ้น ADVANC เด่นที่สุดในกลุ่มสื่อสาร กรณีชนะประมูลคลื่น 2600 MHz ที่ราคา 2 เท่าของราคาตั้งต้น และคลื่น 700 MHz ส่วน DTAC ถ้าไม่ลงสู้ ความสามารถในการแข่งขันจะลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินลงทุน 5G ช่วงแรกผู้ประกอบการเหนื่อย เผชิญโจทย์ท้าทายธุรกิจรอบด้านทั้งตลาด-ต้นทุน-เทคโนโลยี
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ยังคงแนะนำซื้อ ADVANC ยกเป็นหุ้น Top pick ในกลุ่มสื่อสาร ราคาพื้นฐาน 256 บาท สะท้อนสมมติฐานว่าชนะประมูลคลื่น 2600 MHz จำนวน 6 ใบที่ราคา 2 เท่าของราคาตั้งต้น แต่ถ้าชนะประมูลคลื่น 700 MHz อีก 1 ใบที่ราคาตั้งต้น มูลค่าหุ้นจะลดลงราว 2 บาท/หุ้นเป็น 254 บาท ซึ่งเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน 196.50 บาท ยังมี Upside สูงถึง 29%
สำหรับ DTAC หากไม่เข้าประมูลใบอนุญาต 5G ย่าน 2600 MHz ตามกระแสข่าว จะทำให้การแข่งขันประมูลไม่รุนแรง แต่ DTAC ก็อาจจะมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อไม่มีย่านหลัก 2600 MHz ส่วนการลงทุนในย่าน 26 GHz ไม่ได้สูงมาก
ตามกระแสข่าวมี ADVANC, TRUE, CAT เข้าประมูลใบอนุญาต 5G ย่านความถี่ 2600 MHz (มี 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท/ใบ) และ 700 MHz (มี 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท/ใบ)
ADVANC, TRUE, DTAC, TOT ประมูลย่าน 26 GHz (มี 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท/ใบ)
ทางด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายของไทยกำลังจะเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G ในวันที่ 16 ก.พ.ที่จะถึงนี้ บนย่านคลื่นความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz และตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดการเปิดให้บริการได้ในบางพื้นที่ภายในกลางปีนี้ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 และเป็นการสร้างปัจจัยดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งอนาคตของไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและลูกค้าองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความแตกต่างในคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี 4G นัก โดยเข้าใจเพียงว่า 5G มีคุณสมบัติเหนือกว่า 4G เพียงแค่มิติด้านความเร็ว ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับความเร็วของบริการ 4G ในปัจจุบันก็ยังคงพอเพียงสำหรับการประยุกต์ใช้งานบริการดิจิทัลที่มีอยู่ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ดี ทำให้ผู้ใช้บริการขาดแรงจูงใจและไม่เห็นความจำเป็นที่จะหันมาใช้บริการ 5G ที่มีแนวโน้มว่าค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบริการเดิม
นอกจากนี้ เทคโนโลยี IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้องประยุกต์ใช้คุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยี 5G ทั้งด้านความหน่วงและจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อที่สามารถรองรับได้จำนวนมาก และน่าจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้บริการให้หันมาสนใจในบริการ 5G นั้น ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับตลาดโลกรวมถึงประเทศไทย และมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างอยู่ไม่มากนัก โดยอาจใช้เวลาราว 4-5 ปีกว่าเทคโนโลยี IoTจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในไทย ทำให้เกิดแรงกดดันในการหันมาใช้บริการ 5G ของทั้งผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร
ทั้งนี้ การมาของเทคโนโลยี IoT จะหนุนให้การใช้งานโครงข่าย 5G เต็มศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากลำพังเพียงความต้องการเชื่อมต่อโครงข่าย 3G/4G จากอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอยู่เพียงประมาณ 78 ล้านเครื่อง อาจไม่เพียงพอกับศักยภาพการรองรับการเชื่อมต่อของโครงข่าย 5G ที่สูงกว่าโครงข่าย 3G/4G ถึงกว่า 1,000 เท่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความพร้อมด้านอุปกรณ์สื่อสาร 5G ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยผู้ผลิตได้เพิ่งเริ่มทยอยเปิดตัวอุปกรณ์สื่อสาร 5G โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนในตลาดโลก และอุปกรณ์ต่างๆ ยังคงมีระดับราคาที่สูง สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังคงไม่มีการเริ่มจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับ 5G โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาจำหน่ายราวกลางปีก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ
“ในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ 5G ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะเผชิญแรงกดดันด้านปริมาณอุปสงค์โดยรวมในการใช้บริการ 5G ที่ไม่สูงนัก ดังนั้น การวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ องค์ประกอบแรก คือ การวางแผนเลือกพื้นที่การลงทุนโครงข่าย 5G ที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ โดยการลงทุนโครงข่ายในช่วงแรกควรจะกระจุกตัวตามพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่รวมถึงพื้นที่ EEC เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีกำลังซื้อและมีความต้องการใช้บริการสื่อสารข้อมูลในระดับสูง”บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
วันที่ 12 ก.พ. 2563 ราคาหุ้น ADVANC เพิ่มขึ้นทะลุ 200 บาท ส่วน DTAC ลดลงแรง หลังจากขึ้น XD วันที่ 11 ก.พ. ผู้ซื้อไม่มีสิทธิรับเงินปันผล หุ้นละ1.61 บาท