HoonSmart.com>> บลจ.บางกอกแคปปิตอล ตั้งเป้า AUM ปี 63 เติบโต 25-30% จากสิ้นปี 62 ขยายตัวตามเป้าแตะ 4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าออก 20 กองทุน ครอบทุกคลุมสินทรัพย์ทั่วโลก รองรับการจัดสรรพอร์ตลงทุน กระจายความเสี่ยง สร้าง Retirement Solution รับเกษียณอายุ
นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เติบโต 25-30% จากปี 2562 สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายมี AUM อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เติบโต 23% จากปีก่อน แบ่งเป็น กองทุนส่วนบุคคล 17,600 ล้านบาท เติบโต 12.6% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 16,000 ล้านบาท เติบโต 12.75% และกองทุนรวม 6,700 ล้านบาท เติบโต 138%
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทจะออกกองทุนใหม่จำนวน 20 กองทุน ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก รองรับการจัดสินทรัพย์เพื่อกระจายการลงทุน (Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทในการเป็น Retirement Solutions สำหรับการเกษียณอายุ
“เราตั้งใจจะออกกองทุนให้ครบ 20 กองภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้ากลางปี 2564 จากปัจจุบันออกมาแล้ว 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบีแคป ตราสารหนี้ระยะกลาง (BCAP-MFIX) ลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนเปิดบีแคป โกลบอล อิควิตี้ (,BCAP-GE) ลงทุนหุ้นทั่วโลกและกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม แอลโลเคชั่น (BCAP-GFIA) ลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก”นางเมธ์วดี กล่าว
นอกจากนี้มีแผนออกกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ภายในไตรมาส 2 นี้ โดยจัดตั้งกองทุนใหม่นโยบายลงทุนเดียวกับกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล เวลท์ (BCAP-GW) ที่มี 5 ซีรี่ส์ของการลงทุนตามความเสี่ยง ซึ่งเชื่อว่าลูกค้ามีความคุ้นเคยอยู่แล้ว รวมทั้งจะออกกองทุนประเภท Target Date Fund ทั้งที่เป็นกองทุนรวมและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเน้นการลงทุนในระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ โดยกำหนดช่วงปีที่จะครบกำหนดการลงทุน ซึ่งมักจะเป็นปีที่ผู้ลงทุนนั้นเกษียณอายุ เช่น ปี 2030, ปี 2040 ปี 2050 เป็นต้น ซึ่งลักษณะเดียวกับที่บริษัทบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้สมาชิกเลือกลงทุนตามช่วงอายุอย่างเหมาะสม (Life Path) ซึ่งคาดว่าจะออกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
“เราสร้างแพลตฟอร์มกองทุนเหมือน Building Box ที่ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกให้ลูกค้าเลือกนำไปต่อจิ๊กซอร์ เพื่อการลงทุนแบบ Asset Allocation ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเลือกลงทุนตามที่แพคเกจ 5 ซีรี่ส์ของการลงทุนตามความเสี่ยง หรือจะลงทุนตามช่วงอายุ ซึ่งมีทีมผู้จัดการกองทุนบริหารและปรับพอร์ตการลงทุนของแต่ละกองทุนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ “นางเมธ์วดี กล่าว
นอกจากนี้นักลงทุนสามารถเลือกกองทุนไปจัดพอร์ตของตัวเองได้ รวมถึงเอเจ้นท์อื่นที่ทำไพรเวทฟันด์หรือแพลตฟอร์มทำเวลท์สามารถนำกองทุนเราไปให้ลูกค้าเลือกจัดพอร์ตได้เช่นกัน
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกค้าทั่วไปกลุ่มกองทุนรวม 2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3.กลุ่มอัตราไฮเน็ตเวิร์ค,ไพรเวทฟันด์และ 4.ลูกค้าบริษัทเอกชน ซึ่งมีเงินสดเหลือ ถือเป็นลูกค้าฐานใหญ่ที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ
“การเข้ามารุกตลาด Retirement Solutions เพราะเราต่างจากบลจ.อื่นๆ ซึ่งเราจะลงทุนตรง ผ่านกองทุนอีทีเอฟ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำหรือแม้กระทั่งลงทุนผ่านกองทุนของเราเอง ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ขณะที่บลจ.อื่นจะออกเป็นกองทุน Feeder Fund ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมกองทุนที่มากกว่า”นางเมธ์วดี กล่าว
นอกจากนี้จากผลงานการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนตามโมเดลของบริษัท ปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนน่าพอใจให้แก่ลูกค้า โดยกองทุนที่เสี่ยงต่ำสุด ลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ 95% และลงทุนหุ้นเพียง 5% ทำผลตอบแทนได้ 3.4% ขณะที่กองทุนที่เสี่ยงสูงสุดถือหุ้น 100% ทำผลตอบแทนได้ 7.8% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการกระจายลงทุนไปต่างประเทศมีประโยชน์ ในจังหวะหุ้นไทยอันเดอร์เพอร์ฟอร์ม แต่การลงทุนต่างประเทศปรับตัวขึ้นได้ดี ส่งผลดีต่อพอร์ตโดยรวม
อย่างไรก็ตามหลังจากบริษัทมีกองทุนครอบคลุมทุกสินทรัพย์ตามเป้าแล้วเชื่อว่าจากนี้จะช่วยให้ AUM ของบริษัทเติบโตขึ้น โดยคาดหวังว่าอีก 4 ปีข้างหน้าหรือในปี 2567 AUM จะแตะ 1 แสนล้านบาท จากเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2548 หรือ 5 ปีก่อนมี AUM เพียง 1.50 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ด้านนายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2563 มองการลงทุนในต่างประเทศยังน่าสนใจมากกว่าในประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียและกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุน โดยเฉพาะในหุ้นจีนและฮ่องกง จากความกังวลสงครามการค้าและการชุมนุมในฮ่องกง ทำให้กองทุนไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
“เราตั้งใจจะเพิ่มน้ำหนักหุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่ แต่พอเกิดไวรัสโคโรนา ซึ่งยังคาดการณ์ได้ยาก จึงชะลอการเข้าลงทุนไปก่อนและหากตลาดปรับตัวลงอีกจะเป็นจังหวะเข้าซื้อ โดยประเมินไวรัสโคโรนาจะกระทบช่วงสั้น 3-6 เดือนจากนั้นตลาดน่าจะรีบาวด์ได้ นอกจากนี้มองตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปยังน่าสนใจลงทุน โดยเศรษฐกิจสหัรัฐฯ ยังเติบโตได้ดีและคาดว่าเฟดยังคงดอกเบี้ยต่อไป ส่วนยุโรปหลังเปลี่ยนผู้นำธนาคารกลางคนใหม่น่าจะดำเนินนโยบายต่อเนื่อง”นายธนาวุฒิ กล่าว
ส่วนตลาดหุ้นไทย ยังคงน้ำหนักการลงทุนระดับ Neural และลบ (Negative) เนื่องจากหุ้นไทยมีอัพไซด์จำกัดเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าขึ้น โดยมองการเติบโตยังเป็นเลขหลักเดียว เนื่องจากแนวโน้ใเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตต่ำ งบประมาณปี 2563 ล่าช้าทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านโครงการรัฐช้าไปด้วย รวมทั้งทิศทางเงินบาทแข็งค่ายังกดดันให้ศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจไทยยากขึ้น
นายธนาวุฒิ กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นไทย ยังเน้นเลือกหุ้นรายตัวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มส่งออกและท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ส่วนหุ้นกลุ่มที่ยังสนใจลงทุน ได้แก่ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ หุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันมีกำไรเติบโตดี เช่น หุ้นกลุ่มที่ปล่อยกู้รายย่อยโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงและหุ้นกลุ่มติดตามหนี้ รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำและน้ำมัน มีติดพอร์ตไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงในจังหวะตลาดผันผวน
ในส่วนของตลาดสารหนี้ ยังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ และธนาคารกลางหลายประเทศยังคงอัดฉีดสภาพคล่องออกมาในระบบ รวมถึงหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศยังมีความเสี่ยงน้อยและให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าในไทย