HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งสรุปสถานะลูกค้าในปี 2562 มีผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ 1 รายหลังยกเลิกการจัดเครดิตแล้ว มี 18 บริษัทได้รับอันดับเครดิตที่ดีขึ้น กระจายในหลายธุรกิจ EA-BFIT-SAWAD-MTC-CK-ORI ส่วน 15 บริษัทถูกลดเกรด เช่น DTAC-BEC-UV และ EDL-Gen บริษัทผลิตไฟฟ้าของลาว ไม่รวมบริษัทที่ถูกปรับแนวโน้มเป็นลบอีก 16 ราย บริษัทที่ออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งลดลง
บริษัท ทริสเรทติ้ง เปิดเผยว่า ปี 2562 มีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้น 216 ราย มีผู้ออกตราสารใหม่จำนวน 9 ราย ยกเลิกอันดับเครดิตจำนวน 5 ราย ขณะที่มีผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ 1 ราย แต่การผิดนัดเกิดขึ้นหลังจากบริษัทได้ยกเลิกการจัดอันดับไปในปี 2561 ทำให้ยอดผู้ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 22 ราย (เป็นผู้ออกที่ยังจัดอันดับอยู่จำนวน 17 ราย และอีก 5 รายผิดนัดหลังขอยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้ว)
อย่างไรก็ตาม อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในช่วงปี 2537-2562 ลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 0.98% 2.14% และ 3.10% จาก 1.11% 2.33% และ 3.41% ในช่วงปี 2537-2561 ตามลำดับ
ปี 2562 ผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 18 ราย ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิต อาทิ EA, BFIT, SAWAD, MTC, CK ,ORI และปรับลดอันดับเครดิตจำนวน 15 ราย ได้แก่ DTAC, BEC ,UV EDL-Gen (บริษัทผลิตไฟฟ้าของลาว) ทำให้สัดส่วนของการลดอันดับเครดิตต่อการเพิ่มอันดับเครดิตอยู่ที่ 0.83 เท่า ลดลงจาก 1.63 เท่า ในปี 2561
ส่วนตราสารที่มีการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) มีจำนวน 24 ราย เป็นการปรับเพิ่ม 6 ราย ปรับลด 16 ราย และปรับเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “คงที่” อีก 2 ราย
ระหว่างปี มีการประกาศเครดิตพินิจ (CreditAlert) ให้แก่ หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 7 ราย แบ่งเป็นบวก (Positive) 1 ราย แนวโน้มยังไม่ชัดเจน (Developing) 1 ราย และแนวโน้มลบ (Negative) 5 ราย
นอกจากนี้มีเครดิตพินิจที่ได้รับการทบทวนอันดับเครดิตระหว่างปีทั้งหมด 4 ราย โดยเครดิตพินิจแนวโน้มบวก 1 รายได้รับการเพิ่มอันดับเครดิต แนวโน้มยังไม่ชัดเจน 1 รายกลับมาเป็นคงที่ มีอันดับเครดิตเท่าเดิม และเครดิตพินิจแนวโน้มลบมีการลดอันดับเครดิตจำนวน 2 ราย ณ สิ้นปี 2562 จึงมีผู้ออกตราสารที่ยังคงเครดิตพินิจแนวโน้ม “ลบ” อยู่จำนวน 3 ราย
ตลาดตราสารหนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปีมีหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวคงเหลือ 3.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.18% จากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตก็คงที่อยู่ที่ประมาณ 13.64% จาก 13.73% ณ สิ้นปี 2561
ทริสเรทติ้ง คาดว่า มูลค่าตราสารหนี้ที่จะออกในปี 2563 ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า โดยตราสารหนี้ใหม่ที่ออกและจดทะเบียน กับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ในปี 2562 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.5% จากปี 2561 ในจำนวนนี้มีตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิต คิดเป็นประมาณ 16.60% ของตราสารที่ออกทั้งหมดในปี 2562 ลดลงจาก 18.60% ในปี 2561
ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารในอุตสาหกรรมทั้ง 4 กลุ่มได้แก่สถาบันการเงิน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย กองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า บริการสาธารณูปโภค – ไฟฟ้าและประปา รวมถึงสื่อสารโทรคมนาคมและเคเบิ้ล มีการออกตราสารหนี้รวมกันเกือบ 70% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2562
สำหรับผู้ออกตราสารหนี้รวมทั้งสิ้น 216 ราย ประกอบด้วยบริษัททั่วไป 163 ราย สถาบันการเงิน 46 ราย และผู้ออกตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน 3 ราย ที่เหลืออีก 4 รายภาครัฐ ซึ่ ได้แก่รัฐบาลของประเทศ 1 ราย หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นของไทย 1 ราย และสถาบันระหว่างประเทศ 2 ราย
ทั้งนี้ไม่รวมถึงผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนหรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ แต่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นองค์กรทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 201 ราย (ไม่รวมผู้ออกตราสารซึ่งเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 8 รายที่ออกเพียงตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกัน โดยไม่มีการจัดอันดับเครดิตองค์กรเป็นการภายในแต่อย่างใด) ประกอบด้วยบริษัททั่วไปจำนวน 155 รายและสถาบันการเงิน 46 ราย (รวมผู้ออกตราสารจำนวน 3 รายที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรเพื่อใช้เป็นการภายในโดยมีการออกประกาศอันดับเครดิตเฉพาะตราสารหนี้ต่อสาธารณชนเท่านั้น)