EA คิดค้น PCM จากปาล์มรายแรกของโลก ปีแรกรายได้ 800 ลบ. มาร์จิ้น 50%

HoonSmart.com>>พลังงานบริสุทธิ์ บริษัทนวัตกรรมพลังงานสัญชาติไทยเจ้าแรก คิดค้นสารเปลี่ยนสถานะ (PCM) จากปาล์มน้ำมันเป็นครั้งแรกในโลก ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก คาดมูลค่าตลาด 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี จะเพิ่มอีก 3 เท่า ปีแรกผลิต 65 ล้านตัน/วัน เพิ่มเป็น 130 ล้านตัน คาดมีรายได้ 800 ล้านบาท วางแผนผลิต 1 พันตัน ในปีนี้มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 5 พันคัน  หนุนรายได้ทั้งปี 2 หมื่นล้านบาท 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานแสดงนวัตกรรมการผลิตต้นแบบ สารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์ม และพลิกโฉมอุตสาหกรรมปาล์มไทย ด้วยแอปพลิเคชัน ‘ปาล์มยั่งยืน’ แพลตฟอร์มออนไลน์ครั้งแรกในโลก ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาวางกลไก ตรวจสอบทุกธุรกรรมการซื้อขายสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถปันผลตอบแทนส่วนเพิ่มสู่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบให้แก่บริษัทรวมถึงเกษตรกรชาวสวนปาล์มยกระดับมาตรฐานการผลิต การขาย คุณภาพและเพิ่มมูลค่าปาล์มไทยให้พร้อมสู่การเป็นสินค้านวัตกรรมส่งออกในตลาดโลก สร้างอุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่งด้วยเกษตร อุตสาหกรรมและนวัตกรรม โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของภาครัฐในการสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างความสมดุลของราคาปาล์มในอนาคต

“นวัตกรรมของ EA ถือเป็นการปฎิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่มาก และยินดีที่บริษัทคนไทยที่คิดนอกกรอบแล้วทำเป็นจริง ช่วยยกระดับสินค้าเกษตร เชื่อมโยง Value Chain จะเป็นต้นแบบที่สำคัญของประเทศไทยที่จะก้าวข้ามวังวนสินค้าเกษตรของไทย เพราะ PCM ขายได้กิโลกรัมละ 60บาท สร้างมูลค่าเพิ่ม 2-3 เท่า เทียบกับราคาปาล์มน้ำมันที่ 20 บาท” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า การผลิต PCM จากปาล์มน้ำมัน หรือจากแหล่งชีวภาพ (Bio Base) นับเป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดย EA ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก โรงงานตั้งอยู่ที่ จ. ระยองปัจจุบันตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายในอีก 5 ปี บริษัทมีเป้าหมายกำลังการผลิต 1,000 ตัน/วัน ภายในไม่เกิน 5 ปี สำหรับปีนี้ จะผลิต 65 ล้านตันและเพิ่มเป็น 130 ตัน/วัน ภายในปี 2563-2564 เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้ และคาดว่าทั้งปี 63 จะสร้างรายได้ประมาณ 800-900 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของรายได้รวม แต่มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูง

สำหรับ PCM จะเป็นที่ต้องการสูงมากในต่างประเทศ เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็ง และจากของแข็งเป็นของเหลวได้ จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบใช้ประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้

นอกจากนี้ บริษัทได้นำแนวคิด นวัตกรรมสังคมองค์กร หรือ Corporate Social Innovation (CSI) มาใช้ เพื่อให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ในบริษัท สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เติบโตเข้มแข็งเกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวเป็นรากฐานสู่การพัฒนาชุมชนทุกมิติสู่ความยั่งยืน นำร่องด้วยโครงการผลิตสาร PCM จากน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก

บริษัทได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “ปาล์มยั่งยืน” โดยนำนวัตกรรม Blockchain มาพัฒนาเป็น Platform เพื่อใช้บันทึกข้อมูลและตรวจสอบการซื้อขายปาล์ม และที่สำคัญสามารถปันผลประโยชน์ส่วนเพิ่มกลับมายังผู้ขายวัตถุดิบในแต่ละขั้นตอนได้ หากวัตถุดิบนั้นมีคุณภาพดีจนสามารถนำไปผลิตสาร PCM ที่มีคุณภาพสูงได้ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ตลอดจนปันผลประโยชน์ตอบแทนถือเป็นโครงการ CSI ต้นแบบของบริษัทด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าของปาล์มและทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น  นอกจากนี้ด้วยระบบการบันทึกและตรวจสอบทุกขั้นตอนโดยใช้ Blockchain จึงเป็นการป้องกันการลักลอบนำปาล์มเถื่อนเข้ามาซื้อขายได้ อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย

สำหรับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า นายอมรกล่าวว่า ในไตรมาส 2 นี้ จะเริ่มทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 800 คัน จากยอดจองที่มีประมาณ 3,500 คัน คาดยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2563 จะทำได้ประมาณ 5,000 คันตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) มูลค่าลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท  คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3   ส่วนเฟสที่ 2 ขนาด 49 กิกะวัตต์ชั่วโมงนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน  โดยพิจารณาความต้องการของเฟสแรกก่อน

นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  กล่าวว่า ในปี 2563 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้า และมีรายได้จากการขายรถยนต์ไฟฟ้า 5,000 คัน โครงการแบตเตอรี่  และ  PCM   ที่มีมาร์จิ้นสูง ประมาณ 50%