นักวิเคราะห์ยังเมิน SCB -แบงก์ขายนโยบายปันผลใหม่

HoonSmart.com>>นักลงทุนยังคงขายหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ กดราคาต่ำกว่า 100 บาทตามคาด นักวิเคราะห์ไม่เชื่อแผนการเงินปี 63 จะดีอย่างที่คุย แบงก์เสนอจุดขายใหม่ ปรับนโยบายปันผลเป็นไม่น้อยกว่า 30 % บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ตีความจ่ายเพิ่มขึ้น 5.50-5.75 บาทสำหรับปี 63-64 แต่ชอบ KBANK มากกว่า  ส่วน CIMBT ตั้งเป้ากำไรปีนี้โต 10%

วันที่ 22 มกราคม 2563 นักลงทุนยังคงขายหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นต่ำกว่า 100 บาทอย่างที่คาดการณ์คาด โดยปิดที่ 99.75 บาท ติดลบ 0.75 บาทหรือ 0.75% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,988 ล้านบาท ขณะที่มีแรงซื้อกลับหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ปิดที่ 151 บาท บวก 3.50 บาทหรือ 2.37% ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปิดที่ 16.50 บาท บวก 0.40 บาทหรือ 2.48% และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดที่ 140 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาทหรือ 0.72% สำหรับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) ที่ประกาศกำไรปี 2562 โตก้าวกระโดด มีการไล่ซื้อหุ้นราคาเกือบชนซิลลิง ขึ้นไปสูงสุด 0.65 บาท และปิดที่ 0.59 บาท เพิ่มขึ้น 0.07 บาทหรือ 13.46%

บล.ทิสโก้ แนะนำ “ถือ” หุ้น SCB ราคาเป้าหมาย 102 บาท ยังคงมีมุมมองในเชิงลบ แม้ว่าผู้บริหารมองว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วก็ตาม และในปีนี้เริ่มลดลง แต่ไม่เชื่อว่าจะลดลงได้ เพราะค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่ยังคงเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการปรับประมาณการลง เช่น คุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง, รายได้ที่ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ย และกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น แม้ว่า IFRS9 จะเป็นปัจจัยบวกสุทธิก็ตาม

“หุ้น SCB ขาดปัจจัยบวก ตลาดจะยังคงมองในด้านลบ เว้นแต่ว่า SCB จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ หากสามารถรักษาค่าใช้จ่ายให้คงที่ผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นราว 1,200 ล้านบาท หรือ 4% ทำให้ ROE เพิ่มขึ้น 0.3% และมูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น 10 บาท”

นอกจากนี้ธนาคารได้ปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลจากเดิม 30 – 50% ของกำไรสุทธิเป็นเกิน 30% ทำให้มีโอกาสที่จะจ่ายเกินไปจากเดิมได้

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ลดคำแนะนำเป็น “ถือ” จากซื้อ หุ้น SCB และลดราคาเป้าหมายเหลือ 105 บาทจาก 145 บาท ชอบ KBANK มากกว่า แนะนำให้ซื้อราคาเป้าหมาย 160 บาท เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่า การควบคุมต้นทุนดีกว่า และมูลค่าหุ้นถูกกว่า

กรณี SCB ได้ปรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อลงและเพิ่มคาดการณ์การตั้งสำรองเพื่อสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้คาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2563-2564 ลดลง 10-12% จากสินเชื่อที่ชะลอตัวและการตั้งสำรองที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยบวกเรื่องเงินปันผล ประกาศจ่ายพิเศษ 0.75 บาทต่อหุ้น (XD วันที่ 30 ม.ค.) และเปลี่ยนนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นไม่น้อยกว่า 30% จาก 30-50% ของกำไรสุทธิ คาดว่า SCB จะจ่ายเงินปันผล 5.50-5.75 บาทสำหรับปี 2563-2564 จากอัตราการจ่ายเงินปันผล 50-52%

ขณะที่ความเสี่ยงขาลง ได้แก่ การหดตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและการถดถอยคุณภาพของสินทรัพย์ ส่วนของการลงทุนใหม่ ธนาคารได้จัดสรรเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทจากการขายเงินลงทุน SCBLIFE จำนวน 8 หมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตใหม่และเพิ่ม ROE ในระยะกลาง

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” KTB ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้เติบโต 1% อัตราผลตอบแทนปันผลปี 2562-2563 ราว 4.3-4.6% ต่อปี

“กำไรไตรมาส 4 จำนวน 7,500 ล้านบาท และทั้งปี 2562 ทำได้ 2.93 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาดเพราะตั้งสำรองลดลง “บล.ดีบีเอสฯระบุ

บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB ราคาเป้าหมาย 135 บาท/หุ้น คาดปี 2563 จะกลับมาเติบโตได้ โดยประมาณการกำไรสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.3% แต่หากหักรายการพิเศษในปี 2562 จากการขาย SCBLIFE กำไรจะเพิ่มขึ้น 9.8% จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัย รวมถึงธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจะปรับตัวลง จาก NIM ที่ลดลง คาดการณ์สินเชื่อเติบโต 3.0% ส่วนการตั้งสำรอง คาดธนาคารจะมีแนวโน้มตั้งสำรองที่ลดลง

ส่วน KBANK แนะนำซื้อ แต่ปรับลดราคาลงเหลือ 166 บาทจาก 182 บาท ธนาคารคงเป้าหมายทางการเงินปี 2563 ไว้ระดับเดิม คือสินเชื่อโตระหว่าง 4-6% NIM อยู่ 3.1-3.3% จึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลงเล็กน้อย 0.3% และแนะนำถือ BBL ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 223 บาท เหลือ 184 บาท หลังจากผิดหวังกำไรสุทธิปี 2562 ต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากการตั้งสำรองที่สูง ส่วนปี 2563 เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่

ทางด้าน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) นาย อดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ในปี 2563 ตั้งเป้ารายได้และกำไรสุทธิเติบโต 10% จากสินเชื่อขยายตัว 11.8% จากปีก่อนอยู่ที่ 6.5% และเงินฝากเพิ่มขึ้น 16.4% จากระดับ 7.5% และ NIM 3.8% จากที่มีจำนวน 3.6% รวมถึงการควบคุมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่ไม่เกิน 5.4% จากเดิมที่ 5.7% เนื่องจากมีลูกหนี้คุณภาพดีเพิ่มขึ้นถึง 92% จากลูกค้าทั้งหมด และการคัดกรองลูกค้าใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงเป้ากำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท

นาย อดิศร เพิ่มเติมกล่าวว่า ธนาคารฯ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลปี 2562 ในเดือน ก.พ.2563 โดยที่ผ่านมาธนาคารฯ มีการจ่ายเงินปันผลล่าสุดเมื่อปี 2556 จำนวน 0.005 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยได้วางโครงสร้างพื้นฐานและทำงานเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างเต็มที่เมื่อผสานกับจุดแข็งด้านอาเซียน จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่เรียกว่า “DIGITAL BANK WITH ASEAN REACH ” และถ้าต้องปักธงลงแข่งขันในสนามที่ธนาคารเชี่ยวชาญ  ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำ 4 ด้าน ได้แก่ DIGITAL ,ASEAN ,WEALTH และ CUSTOMER EXPERIENCE (CX)