สถาบันถล่มหุ้นไทย 1.17 หมื่นลบ สารพัดข่าวลบกดดันตลาดโลก

HoonSmart.com>>หุ้นไทยร่วงตามยุโรป เอเชีย ดาวโจนส์ล่วงหน้า นักลงทุนสถาบันทิ้งหนักกว่า 6,000 ล้านบาทต่อเนื่องจากวันก่อนระบายออกมากว่า 4,000 ล้านบาท เน้นหุ้นใหญ่ในทุกกลุ่ม ตลาดกังวลไวรัสโคโรนาระบาดสู่คน กระทบธุรกิจท่องเที่ยว จีนลด-เลิกใช้พลาสติกกระเทือนปิโตรเคมี ส่วนแบงก์ยังขึ้นไม่ไหว บล.ทรีนีตี้ให้เป้าปีนี้สูงสุด 1,700 จุด หากธปท.คงดอกเบี้ย แนะนำกระจายขายพอร์ต เชียร์หุ้นปันผลสูง SCC-PTT-BCP-BBL-ADVANC เตรียมเงินสด 20% ไว้ช้อน

วันที่ 21 มกราคม 2563 ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่ภาวะขาลง นำโดยฮ่องกงดิ่งหนักสุด 2.8% ดาวโจนส์ล่วงหน้าลดลงกว่า 100 จุด ส่วนไทยปิดที่ 1,574.94 จุด รูดลง 14.17 จุดหรือ 0.89% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 76,619.73 ล้านบาท โดยสถาบันไทยทิ้งหุ้นไม่ยั้ง เป็นวันที่สอง 6,875.91 ล้านบาท จากวันก่อนขายถึง 4,895 ล้านบาท รวมสองวันขายทั้งหมด 11,770 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อตราสารหนี้สุทธิ 31,331 ล้านบาท  ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นนำตลาด  มีแรงเทขายหุ้นไฟฟ้า ปิโตรเคมี  และธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่เพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ 2.96% ปิดที่ 139 บาทหลังผลกำไรปี 2562 ออกมาตามคาด

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นโลกถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาที่มีโอกาสติดต่อจากคนสู่คน ไปอีกระยะจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง เป็นปัจจัยลบต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและสนามบิน

บล.กสิกรไทย ระบุว่า ยังมีอีกหลายประเด็นกดดันหุ้น คาดเกิดกระแสเงินไหลกลับพักไปยังกลุ่มที่มั่นคง เช่นโรงไฟฟ้าในระยะสั้น

ทั้งนี้กลุ่มท่องเที่ยวปรับตัวลงนำโดย ERW, CENTEL, MINT, AOT  หากเกิดก่อนตรุษจีนอาจส่งผลลบอย่างมีนัยยะต่อกลุ่มท่องเที่ยว

นอกจากนี้หุ้นกลุ่มปิโตรเคมียังได้รับผลกระทบจากจีนประกาศแผนยกเลิกใช้ถุงพลาสติกลงไม่ต่ำกว่า 30% ภายในปี 2568 และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีการ sell on fact หลังการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้

ด้านศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2563 ซึ่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษแห่งความเสี่ยง (ปี 2020-2030) ว่า จะเป็นยุคที่นักลงทุนหาผลตอบแทนได้ยากขึ้นจากภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกระบวนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือ QE ของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ กว่า 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะเติบโตต่ำ และเงินเฟ้อต่ำ คาดจีดีพีในปีนี้ขยายตัว 2.8-2.9% ส่วนเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัว แต่จำกัดการเติบโตในเชิงสภาพคล่อง ได้แก่ นโยบายทางการเงินเริ่มจำกัดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมากและระดับหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่สูงขึ้น คาดว่ารัฐบาลหรือธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจจะออกมาตรการเพื่อช่วยผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มโดยตรงมากขึ้น

“หุ้นปีนี้จะแกว่งตัวในกรอบ 1,480-1,700 จุด แต่ถ้าธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง  0.25% เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 40 จุด สู่ระดับ 1,740 จุด ส่วนประมาณการกำไรบจ.ยังไม่มีสัญญาณการถูกปรับขึ้น แต่ตลาดมีแรงจูงใจเรื่องอัตราผลตอบแทนปันผลที่ดีหนุนให้ดัชนีปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก ก่อนจะย่อตัวลง  ทิศทางหุ้นไทยในช่วงที่เหลือจะแกว่งตัวไปตามพัฒนาการของประมาณการกำไรบจ.ซึ่งอิงกับปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบ ”

สำหรับกระแสเงินทุนจะยังไม่เข้าหุ้นไทย นับตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาท และเป็นขายสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการถือครองของต่างชาติลดลงเกือบต่ำสุดในรอบ 15 ปีเหลืออยู่เพียง 28.2%ของมาร์เก็ตแคป ขณะที่สถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากนี้จะชะลอตัวลง เพราะสิทธิพิเศษภาษีกองทุน LTF หมดลง และผันไปเป็นกองทุน SSF ทำให้เม็ดเงินลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันเม็ดเงิน LTF ในระบบมีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท จะทยอยหมดอายุภายในปี 2568 ถ้าไม่มีกองทุนอื่นมาทดแทน

นอกจากนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความเสี่ยงที่เป็น Tail Risks (ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ทำให้การลงทุนเสียหายมาก) คือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ ฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลเสียหายต่อตลาดทุน แนะนำให้ใช้ทองคำ หรือ เงินสดเป็นตัวป้องกันความเสี่ยง(Hedging)

บล.ทรีนีตี้ แนะนำการจัดพอร์ตให้ลงทุนในหุ้น 30% (แบ่งเป็นหุ้นไทย 10% และหุ้นต่างประเทศ 20% โดยเฉพาะหุ้นในอาเซียน เช่นหุ้นจีน และหุ้นเวียดนาม เน้นกองทุนที่สามารถลงทุน โดยไม่มี Foreign Premium) ลงทุนในตราสารหนี้ 30% (ตราสารหนี้ไทย 10% และตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%) ลงทุนทองคำ 10% (ลงทุนในกองทุนทองคำที่ปิดความเสี่ยงค่าเงิน) ลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10% (กองทุนในประเทศ 5% และกองทุนต่างประเทศ 5%) ที่เหลือให้ถือเป็นเงินสด 20% เพื่อใช้เป็นจังหวะในการซื้อสินทรัพย์ ในช่วงที่ราคาปรับตัวลงมา

นอกจากนี้ยังแนะนำลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลสูง จากงานวิจัยพบว่าสถิติ 9 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้นปันผลสูง จะมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนประมาณ 9.6% (ด้วยความเชื่อมั่น 90%) ในช่วงระยะเวลาการลงทุนเพียง 4 เดือน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการทำ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 174% ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นกว่า 115% นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ทองคำในรูปดอลลาร์ปรับตัวขึ้นกว่า 38 % ราคาที่ดินในกรุงเทพและปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 118% และผลตอบแทนพันธบัตรไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 69% แต่หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 58% ของจีดีพีมาสู่ 80% ของจีดีพีหนี้สินทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้นจาก 161%  มาสู่ 258% ในช่วงระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา