HoonSmart.com>>บิ๊กบจ.ไทยพาเหรดขยายออกไปลงทุนอาเซียน ธนาคารไทยพาณิชย์สนใจเข้าไปทำธุรกิจธนาคารในเมียนมา ตั้งงบร่วมทุนแบงก์ท้องถิ่น 2,250-3,000 ล้านบาท เดินตามรอยกสิกรไทยเจรจาเอเแบงก์ ส่วนบริษัท เฟรเซอร์สฯสนใจลงทุนในเวียดนาม-อินโดนีเซีย เช่นเดียวกับ ปูนซิเมนต์ไทย กัลฟ์เล็งเพิ่มการลงทุนไฟฟ้าในโอมาน -เวียดนาม ส่วนการลงทุนในประเทศ ยังเปิดกว้างในหลายธุรกิจ ” สมคิด” เรียกร้องให้เอกชนเร่งลงทุน แก้เงินบาทแข็ง เตือนระวังระเบิดลูกใหม่
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 มีการสัมมนาใหญ่ 2 งาน โดยมติชนจัดเสวนา”2020 ปี แห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563 เรื่อง “เจาะอุตสาหกรรมเด่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2020” ในงานแรก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า การลงทุนเป็นทางออกประเทศไทยที่สามารถช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจได้ ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ และขอฝากให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังนิ่งมาก มีสัดส่วนเพียง 16% ของจีดีพี
นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐจะเร่งขับเคลื่อนคือ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภาคอุตสาหกรรม Creative Economy การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการดูแลด้านสาธารณสุข
“ต้องลงทุนเดี๋ยวนี้ อย่ารอช้า ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจซบเซา ระเบิดลูกแรกถือเป็นระเบิดเหนือน้ำ คือ เรื่องของการส่งออกที่ค่อยชะลอตัวลงจนกระทั่งติดลบ 7.7% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีนและตลาดโลก ส่วนระเบิดลูกที่สองเปรียบเป็นระเบิดใต้น้ำ คือเรื่องการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ขับเคลื่อนช้าเกินไป สาเหตุสำคัญมาจากการจัดสรรงบประมาณที่ล่าช้า แต่ยังมีระเบิดลูกใหม่ คือ เรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น”นายสมคิดกล่าว
นาย อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นของเมียนมา สัดส่วน 35% โดยกำลังหาพันธมิตรและตั้งงบประมาณที่เหมาะสมจำนวน 75-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,250-3,000 ล้านบาท ปัจจุบันเมียนมาเปิดกว้างให้มีพันธมิตรจากธนาคารต่างประเทศเข้าไปในช่วงในการส่งเสริมศักยภาพให้แก่ประเทศเมียนมา
“ธนาคารไทยพาณิชน์สนใจ เข้าไปร่วมทุนกับธนาคารท้องถิ่นเมียนมา ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับการจัดตั้งสาขาด้วยตัวเอง แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลเมียนมาก่อนถึงจะได้เริ่มดำเนินการ” นายอาทิตย์กล่าว
นอกจากนี้ธนาคารฯยังมีการตั้งงบการลงทุนอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจดิจิทัลและพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะช่วยในการเสริมสร้างการดำเนินของธนาคารให้ดีขึ้น
ก่อนหน้า ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ว่า ธนาคารกสิกรไทยและเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (เอแบงก์ )เข้าพบธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อแสดงความจำนงในการเข้าร่วมทุนในเอแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นของเมียนมา อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปการลงทุน ความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา รวมทั้งการเจรจาและศึกษาโครงสร้างที่เหมาะสมของการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา เพื่อใช้เงินลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดกับธนาคาร และสอดคล้องกับกฎเณฑ์ และกฎหมายของทั้งสองประเทศ
สำหรับการขยายธุรกิจสู่เมียนมานั้น ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนและธุรกิจในเมียนมาสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของเมียนมา พร้อมขยายโอกาสและความสัมพันธ์ให้แกาธุรกิจข้ามระหว่างไทย-เมียนมาได้มากขึ้น
นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT กล่าวว่า กลุ่มเติบโตจากฐานสิงคโปร์ แต่ระยะ 10 ปีที่ผ่านมาขยายฐานออกไปอีก 25 ประเทศ เห็นโอกาสการเติบโต โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องการกู้เงิน สภาพคล่องสูงมาก และประเทศไทยเองก็มีศักยภาพการลงทุน แต่ยังต้องมีการปรับปรุงในหลายเรื่อง
ในปี 2563 กลุ่มฯจะขยายลงทุนไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งกำลังศึกษาการลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าที่ FPT มีความเชี่ยวชาญ โดยสนใจประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีศักยภาพเศรษฐกิจขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนมากขึ้น คาดว่าการลงทุนจะมีความชัดเจนในปีนี้
ส่วนการลงทุนในประเทศไทย อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการวันแบงค็อกที่เริ่มก่อสร้างมากว่า 1 ปี หลังจากเห็นรัฐเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐชัดเจน เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งจากผู้ประกอบการในและต่างประเทศ ส่วนการลงทุนในอนาคต หากรัฐต้องการให้เอกชนลงทุน ควรส่งเสริมการลงทุนอย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน มองหาโอกาสและเดินหน้าการลงทุนได้อย่างเต็มที่
“ภาครัฐต้องกำหนดแนวทางต่าง ๆ อย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ ยกตัวอย่างที่รัฐบาลสิงคโปร์ กำหนดแนวทางการสร้างความยั่งยืนและดูแลประชากร โดยภาครัฐเอื้อประโยชน์ได้ แต่ควรทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม “นายปณต กล่าว
นาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าลงทุนประมาณ 1.29 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มลงทุนในช่วงไตรมาส ไตรมาส 2-3 ปี 2563 ส่วนแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ระหว่ารอความชัดเจน ขณะที่โครงการมอเตอร์เวย์ บริษัทเตรียมลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนกับภาครัฐในดำเนินงานและบำรุงรักษา
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังเป็นรายได้หลัก ยังรอโอกาสในการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศมีการศึกษาเกี่ยวกับการทำโรงไฟฟ้าที่เวียดนาม และศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าในโอมานเพิ่มเติม คาดว่าภายในปี 2563 จะเห็นความชัดเจน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ( SCC) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีนี้ (2563-2564) บริษัทมีแผนจะเข้าลงทุนในประเทศเวียดนามและอินโนนีเซีย มองว่าตลาดอาเซียนยังมีการเติบโตได้ดีอยู่ โดยการลงทุนจะเข้าไปขยายทั้งส่วนของวัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมถึงแพคเกตจิ้ง แต่การลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ กำลังหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจยท์กับลูกค้าปัจจุบันให้ได้มากที่สุด รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการดำเนินการเพื่อสร้างความเติบโตและความมีศักยภาพให้แก่บริษัทฯมากขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯมีการได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าอย่างแพคเกตจิ้งให้เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีก็จะมีการพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้นและการพัฒนาบริการหลังการขายทให้ดีขึ้นอีกด้วย
สำหรับงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เรื่อง “เจาะอุตสาหกรรมเด่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2020” น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า ในปี 2563 จะมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ดี และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของบริษัทมี 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์จะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมก็มีความโดดเด่นอย่างมาก ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า เกิดการเคลื่อนไย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ของผู้ประกอบการในประเทศจีนมายังอาเซียน รวมถึงไทยด้วย
ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในปีนี้มองสถานการณ์ภัยแล้งเป็นโอกาส เและธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล บริษัทก็มีแผนที่จะทำ sandbox 5G ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าในนิคมฯ ใช้เทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์
“ในปี 2563 น่าจะดีกว่าปี 2562 คาดเศรษฐกิจขยายตัว 3% การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ในเดือนก.ย.62 ไทยได้มาแล้ว 8 บริษัท แต่การรักษาโมเมนตัมขยายตัวด้านการลงทุน รัฐบาลจะต้องการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ส่วนผู้ประกอบการจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ “น.ส.จรีพร กล่าว
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 39.7 ล้านคน มีรายได้ 1.96 ล้านล้านบาท เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย คาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 41 ล้านคน และมีรายได้เพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านบาท
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คาดการณ์การส่งออกสินค้าของไทยปี 2563 จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ในเฟสที่ 2 จะมีความราบรื่นหรือไม่, สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในจีนมายังอาเซียน ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และความมั่นใจได้