ปี 62 เงินไหลเข้ากองทุน 2.1 แสนลบ. ตราสารหนี้เมินเก็บภาษี-หุ้นนอกกำไรดี

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยปี 62 เงินไหลเข้ากองทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท “ตราสารหนี้” เมินเก็บภาษี เงินไหลเข้า 1.1 แสนล้านบาท กองทุน LTF เงินเข้าลงทุนทิ้งทวนเดือนธ.ค.กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เชื่อนักลงทุนยังถือต่อ ได้ประสบการณ์ที่ดีจากการลงทุน ระยะยาวแจกกำไรดี ด้านผลตอบแทนปี 62 กองทุน “หุ้นต่างประเทศ” แจกกำไรฉลุย 6-26% กลุ่มเทคโนโลยีแชมป์ 26.77% กองหุ้นไทยแผ่วตาม SET ด้านหุ้นอาเซียนติดลบ ประเมินปี 63 อุตฯ กองทุนรวมทรงตัวหลายปัจจัยลบกดดัน

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปี 2562 มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท โดยเข้ากองทุนตราสารหนี้ 1.1 แสนล้านบาท กองทุนตราสารทุน 5.9 หมื่นล้านบาท กองทุนผสม 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันมีเงินไหลออกสุทธิกองทุนตราสารตลาดเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท กองทุนน้ำมันและทองคำ 967 ล้านบาท ส่งผลให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2561

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4/62 มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 1.3 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารหนี้ 7.3 หมื่นล้านบาท กองทุนตราสารทุน 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณเงินไหลเข้าที่ใกล้เคียงกันของทั้งสองประเภททรัพย์สินนี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากระดับความเสี่ยงที่ต่างกัน ในอดีตหากตราสารหนี้มีเงินไหลในทิศทางใด ตราสารทุนจะสวนทางหรือมีการลงทุนน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับเงินไหลเข้าของทั้ง 2 ประเภททรัพย์สินอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ไทยทั้งระยะสั้นและระยะกลางและยาวมีเงินไหลเข้าสุทธิสูง ซึ่งอาจเกิดจากการเข้าลงทุนก่อนที่จะได้รับผลตอบแทนน้อยลงในอนาคตจากการจัดเก็บภาษี รวมทั้งมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่น่าสนใจราว 2.5% สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นและ 3.5% สำหรับกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลางและยาว

“แม้รัฐจะเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ แต่นักลงทุนยังเข้าลงทุน แม้ผลตอบแทนจะลดลงจากที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับเงินฝากยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า ขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนที่เห็นว่าผลตอบแทนน้อยก็เริ่มขยับไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ เช่น รีท เป็นต้น”น.ส.ชญานี กล่าว

ด้านกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีเงินไหลออกสุทธิทั้งปี 2.2 หมื่นล้านบาท แม้จะมียอดเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาส 2-4 ก็ตาม แต่ในไตรมาสแรกมีปริมาณเงินไหลออกมา รวมทั้งกลุ่มกองทุนส่วนใหญ่มีทิศทางเป็นเงินไหลออก ซึ่งมีเพียง 5 กลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธินำโดย Property – Indirect Global 5.1 หมื่นล้านบาท กลุ่ม Foreign Investment Miscellaneous ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน

สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายได้สิทธิภาษี ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นเดิม โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปี 3.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้าในเดือนธ.ค.62 จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงในอดีต จากช่วงต้นปีถึงกลางปีตลาดหุ้นทำให้นักลงทุนทยอยขายกองทุนในครึ่งปีแรกเงินไหลออก 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินไหลเข้าสุทธิรวมทั้งปีจำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าทรัพย์สินรวมเติบโต 6.3% จากปี 2561 มาแตะ 4.1 แสนล้านบาท

ทางด้านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น RMF Equity 1.5 หมื่นล้านบาท กองทุน K Equity RMF จาก บลจ. กสิกรไทย มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.9 พันล้านบาท ตามมาด้วย Principal Equity RMF จาก บลจ.พรินซิเพิล 1.7 พันล้านบาท และ Bualuang Top-Ten RMF จาก บลจ.บัวหลวง 1.2 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 กองทุนลงทุนในหุ้นไทย

ส่วนกองทุน RMF – Fixed Income มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กองทุน RMF – Fixed Income มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงในระดับมากกว่า 1 หมื่นล้าน ทั้งนี้เกิดจากการเข้าลงทุนที่เริ่มคึกคักมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 นำโดยกองทุน Krungsri Cash RMF และ Krungsri Medium Term Fxd-Inc RMF จาก บลจ.กรุงศรี ส่งผลให้กองทุน RMF ทั้งระบบมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.4%

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยกลุ่มกองทุนในปี 2562 ส่วนใหญ่ยังเป็นบวก กลุ่มกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระดับสูงส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ เฉลี่ย 6-20% ยกเว้นกลุ่ม India Equity ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1% โดยกลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกคือกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี (Global Technology) 26.8%, กลุ่มหุ้นยุโรป (Europe Equity) 26.3%, และกลุ่มกองทุนน้ำมัน Commodities Energy 23.7% และสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาที่เกือบ 13% ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในไตรมาสสุดท้าย

กองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่กองทุนต่างประเทศยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนไทยนำโดยกลุ่ม Emerging Market Bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดใน ปี 9.9% ตามมาด้วยกองทุนประเภท term fund แต่มีความเสี่ยงสูงคือ Global High Yield Bond 7.4% และ Global Bond ที่ 6.2% ในขณะที่กลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ย 2.5% และตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวอยู่ที่ 3.5%

“หากดูผลตอบแทนสูงสุด 20 อันดับแรกจะมีเพียงกลุ่ม Property Indirect ที่เป็นกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในประเทศ ในขณะที่กองทุนที่ลงทุนในประเทศให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับต่ำตามสภาวะตลาดการลงทุนไทย โดยเฉพาะกองทุนหุ้นไทยไม่สดใสเมื่อเทียบตลาดต่างประเทศ ทำให้กองทุนหุ้นไทยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ขณะที่กองทุนหุ้นไทยกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กเฉลี่ย 3.6% เมื่อเทียบผลตอบแทนรวมดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET TR) อยู่ที่ 4.3%” น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับกองทุนต่างประเทศ (FIF) จะให้ผลตอบแทนที่สูงมากในปี 2562 แต่นักลงทุนไทยได้ประโยชน์ไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจกับกองทุนที่ลงทุนในประเทศ เห็นได้จากปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิรายกลุ่มที่ยังคงเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดิม เช่น ตราสารหนี้ไทย กองทุนผสม กองทุนหุ้นไทย ในขณะที่กลุ่มกองทุนต่างประเทศยังเป็นทิศทางเงินไหลออกสุทธิเป็นส่วนใหญ่

“ปี 2562 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสนักสำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีมีการปรับตัวไปที่ระดับสูงกว่า 1,700 จุดในช่วงสั้น ๆ ตอนกลางปี ก่อนจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกันเช่น เงินบาทที่แข็งค่าทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบและมีการปรับคาดการณ์จีดีพีลดลง สัญญาณสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตช้าลงในไตรมาส 3 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายน แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็มีการปรับขึ้นได้เล็กน้อยก่อนจะปรับตัวลงมาปิดราคาดัชนีของปี 2019 ที่ 1,579.84 จุด โดยผลตอบแทน SET TR ของปีอยู่ที่ 4.3%”น.ส.ชญานี กล่าว

ส่วนแนวโน้มตลาดกองทุนรวมปี 2563 คาดว่าจะทรงตัวเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก ขณะที่ความกังวลด้านเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัว รวมถึงตัวเลขภาคส่งออกยังไม่ดีนัก ซึ่งสะท้อนออกมาในผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) พอสมควร ซึ่งปัจจัยลบต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เห็นว่าจะชัดเจนที่ทำให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้

หากพิจารณาปัจจัยต่างประเทศ แม้หลายฝ่ายเริ่มผ่อนคลายข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เริ่มบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 กันได้ แต่ยังต้องกังวลปัญหาความตึงเครียดตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งกระทบต่อราคาน้ำมัน และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจได้ ซึ่งค่อนข้างเป็นเซนทิเมนท์ในเชิงลบ โดยแนะนักลงทุนจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง โดยมองว่ากองทุนรวมยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และมีการบริหารกองทุนโดยมืออาชีพ

“แม้ปีนี้จะไม่มีเม็ดเงินจาก LTF แล้ว นักลงทุนที่เคยได้สิทธิภาษี อาจมองหาการลงทุนอื่นๆ เพื่อหาผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีท) หรือกองทุนหุ้น นอกจากนี้มองว่าจากประสบการณ์ที่ดีของคนที่ลงทุนในกองทุน LTF ซึ่งระยะยาวได้ผลตอบแทนที่ดีเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ 8.54% ต่อปี ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนไม่ขายกองทุน LTF ออกมามากเหมือนที่ตลาดกังวลก็เป็นไปได้”ชญานี กล่าว

สำหรับผลตอบแทนกองทุน LTF เฉลี่ยในปี 2562 อยู่ที่ 2.48% ต่ำสุดในกลุ่มกองทุนประหยัดภาษี ขณะที่กองทุน RMF Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.70%

 
 
อ่านข่าว

“ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์” แชมป์หุ้นไทย กางพอร์ต GULF-MTC หนุนกำไร

10 อันดับกองทุนรวมผลตอบแทนดีที่สุด ณ 31 ธ.ค. 2562