HoonSmart.com>>ราคาแบงก์ใหญ่ยังลงไม่หยุด ชิงทิ้งก่อนงบไตรมาส 4 ออกมาแย่ ดีบีเอสฯวิเคราะห์ 7 แบงก์ คาด BBL, KTB, TMB, TISCO, KKP เติบโต ส่วน KBANK- SCB ร่วง รวมทั้งปี 62 กำไรรวม 1.71 แสนล้านบาท เติบโต 2.4% SCB ขายเงินลงทุนช่วย KKP เติบโตจากค่าธรรมเนียม บล.ทรีนีตี้แนะนำซื้อ 4 แบงก์ BBL-SCB-KBANK-KTB
วันที่ 13 มกราคม 2563 ดัชนีหุ้นบวก 5.53 จุด หรือ 0.35 % ปิดที่ 1,586 จุด แต่หุ้นธนาคารกลับปรับตัวลง นำโดย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 1.50 บาทหรือ 1.09% ปิดที่ 136 บาท และนาคารกรุงเทพ (BBL) ปิดที่ 153 บาท รูดลง 1.50 บาทหรือ 0.97%
ในสัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์ทยอยรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 4 และปี 2562 บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ประเดิมประกาศวันที่ 14 มกราคม โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) วิเคราะห์ธนาคาร 7 แห่ง คาดปี 2562 จะมีกำไรรวม 1.71 แสนล้านบาท เติบโต 2.4% SCB กำไรสุทธิโดดเด่นที่สุด 11.3% เพราะมีกำไรจากขายเงินลงทุน SCBLIFE ในไตรมาส 3 แต่หากไม่รวมรายการพิเศษนี้ จะมีกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย
ภาพรวมของธนาคารในปี 2562 กำไรเติบโตมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ แม้ว่า NIM จะแคบลง และตั้งสำรองทั่วไปน้อยลง ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขึ้นกับแต่ละธนาคาร แต่โดยรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันกำไรก่อนสำรองค่าเผื่อฯ อ่อนลงทุกธนาคาร ยกเว้น KKP เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น ทั้งนี้ KKP ดีกว่ากลุ่ม เพราะรายได้ดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
สำหรับผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 4/2562 คาดธนาคาร 7 แห่งมีกำไรสุทธิ 4.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8%จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.8% จากไตรมาส 3 โดย TMB โดดเด่น ปัจจัยหนุนจากการตั้งสำรองฯลดลง 4.5% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสูงขึ้น 21.7%
ธนาคารที่มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4 เติบโตทั้งระยะเดียวกันปีก่อนและไตรมาสที่ 3 คือ BBL, KTB, TMB, TISCO, KKP ส่วน KBANK และ SCB คาดว่ากำไรสุทธิจะโตจากระยะเดียวกัน แต่หดตัวจากไตรมาส 3
“ยกให้ KKP เป็นหุ้น Top Pick เนื่องจากมีการเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มทั้งในธุรกิจธนาคารและตลาดทุน (ดำเนินงานผ่านบล.ภัทร) คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4 ขยายตัว 18.5% เทียบกับปีก่อน และ 5.1%จากไตรมาส 3 รวมทั้งจ่ายปันผลสูงด้วย คาดการณ์ครึ่งปีหลัง 3.6 -4.4% (จ่ายระหว่างกาลไปแล้ว 1 ครั้ง) และสำหรับปี 2563 คาดจ่าย 6-7% นับว่าจูงใจมาก และหุ้นก็มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงด้วย”บล.ดีบีเอสฯระบุ
บล.ทรีนีตี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTB ให้เป้าหมาย 22 บาท SCB ให้เป้าหมาย 160 บาท BBL ให้เป้าหมาย 205 บาท ส่วน KBANK เป้าหมาย 185 บาท แต่เตือนให้ระมัดระวังในการลงทุน ทั้งนี้ราคาเป้าหมายขอทรีนีตี้สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในปี 2563
ในส่วนธนาคารกรุงไทยคาดว่าจะมีกำไรไตรมาส 4 อยู่ที่ 7,252 ล้านบาท ดีขึ้น 14% จากไตรมาส 3 และ 18% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหนุนหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีสำรองค่าใช้จ่ายพนักงาน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมอาจดีขึ้นเล็กน้อย 2%ส่วนสำรองหนี้คาดว่าจะค่อนข้างทรงตัว
สำหรับแนวโน้มปี 2563 มองกำไรดีขึ้นบ้างหลังหมดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเรื่องพนักงาน แต่ผลการดำเนินงานปกติยังไม่เด่น สินเชื่อยังไม่สดใส โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อ SME และรายย่อยที่ต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพหนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบดิจิทัลยังอยู่ในระดับสูง
ทางด้าน KBANK คาดกำไรไตรมาส 4 จำนวน 8,060 ล้านบาท อ่อนตัว 19%จากไตรมาส 3 จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลปลายปี แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิค่อนข้างทรงตัว จากสินเชื่อจะกลับมาเติบโตได้บ้าง และรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามฤดูกาล แนวโน้มปี 2563 คาดว่าจะเห็นสินเชื่อเติบโตได้บ้าง แต่ปัจจัยกดดันจะยังมาจากประเด็นด้านคุณภาพหนี้ในกลุ่ม SME ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ อย่างไรก็ตามยังรอการประกาศเป้าหมายทางการเงินของปีของธนาคาร
บล.ทรีนีตี้คาด SCB ทำกำไรไตรมาส 4 ได้ 9,314 ล้านบาท อ่อนตัว 37%จากไตรมาสที่ 3 ที่มีกำไรพิเศษจากการขาย SCB Life แต่ยังเติบโต 31% แนวโน้มกำไรปี 2563 อาจอ่อนตัวหลังหมดกำไรพิเศษ แต่การดำเนินงานปกติยังมีปัจจัยบวกจากการทยอยรับรู้รายได้จำนวน 1.77 หมื่นล้านบาทจากการขาย SCB Life ในระยะเวลา 15 ปี และยังได้รับค่าตอบแทนจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้กับ FWD ด้วย นอกจากนี้การตั้งสำรองหนี้จำนวนมากภายหลังได้กำไรจากการขาย SCB Life ทำให้สำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาก และค่าใช้จ่ายสำรองในอนาคตอาจลดลงได้
” BBL คาดกำไรไตรมาส 4 เด่น ทำได้ 9,930 ล้านบาท ดีขึ้น 5%จากไตรมาส 3 และ 23%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังกำไรจากเงินลงทุนหนุน และรายได้ค่าธรรมเนียมที่มักเติบโตได้ดีในช่วงปลายปี ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิคาดค่อนข้างทรงตัวตามแนวโน้มสินเชื่อ ส่วน ปี 2563 คาดว่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะช่วยหนุนให้สินเชื่อกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และการรวมงบของ Permata Bank คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของกำไรของธนาคาร (เทียบจากงบ 9M63) ทั้งนี้เราอยู่ระหว่างการปรับประมาณการกำไรปี 2563-2564 เพื่อรวมกำไรของ Permata Bank เข้ามาในอนาคต ราคาหุ้นปัจจุบันที่อ่อนตัวลงมาทำให้ Upside ยังคงน่าสนใจ จึงคงคำแนะนำ ซื้อ “บล.ทรีนีตี้ระบุ