แบงก์หายตกใจ ธปท.คุมไม่แรง สั่งคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมเป็นธรรม

HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์ตื่นตกใจ ราคาดิ่งลงเหว  ก่อนฟื้นตัว แบงก์ชาติเข้มสั่งธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ย-การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม สินเชื่อที่อยู่อาศัย SME สินเชื่อส่วนบุคคล  เพื่อลดภาระประชาชนและ SME  คิดค่าปรับจากหนี้ผิดนัด ไม่ใช่เงินต้นคงเหลือ หนุนไถ่ถอนก่อนกำหนด หวังเกิดตลาดรีไฟแนนซ์ในประเทศไทย  บล.ฟินันเซียไซรัสประเมินผลกระทบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้  TOP Pick ยังคงแนะนำ SCB และ TISCO

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ม.ค.2563) ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนและ SME สร้างความเป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

สำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ให้ปรับปรุง 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด จากเดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้ง ให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ความสำคัญคือ ค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์เกิดขึ้นในประเทศไทย

2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้พิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร

นอกจากนี้ให้ธนาคารกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

การปรับปรุงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)

3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

ในอนาคตธปท.ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย (1) ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ (2) ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ (3) ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ (4) ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ธปท. จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย

การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

บล.ฟินันเซียไซรัส ออกบทวิเคราะห์ว่า ธปท.ออกเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมมากขึ้นต่อ SME ประเมินว่าเป็นลบแต่น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สำหรับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ ( BBL) มีฐานลูกค้า SME จำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด สำหรับ TOP Pick ยังคงแนะนำธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB) และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)

นักลงทุนตกใจคำสั่งธปท.เทกระจาดหุ้นแบงก์ออกมาอย่างหนักในช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย เช่น SCB  ภาคเช้าราคาขึ้นไปสูงสุด 118.50 บาท แต่เปิดตลาดช่วงบ่ายถูกทุบลงไปต่ำสุดที่ 114.50 บาท  ก่อนปิดที่ 116 บาท ลดลง 0.50 บาทหรือ 0.43% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,311 ล้านบาท  BBL จากราคาสูงสุด 157 บาท ถูกทิ้งไปต่ำสุด 151 บาท ปิดที่ 156.50 บาท บวก 0.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 2,655 ล้านบาท และ KBANK ราคาขึ้นไปสูงสุด 146.50 บาท ก่อนที่จะลงไปต่ำสุดแตะ  141 บาทปิดที่ 143 บาท ติดลบ 0.50 บาท มูลค่การซื้อขาย 2,550 ล้านบาท