HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี 63 น่าจะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น คาดรายได้โต่เพียง 3-6% ต้องดิ้นรนหาธุรกิจใหม่ มาตรการควบคุมราคาสินค้ายา เวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์กดดันรายได้ 1-2%
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 23 ราย) ในปี 2563 กำไรในภาพรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง และรายได้น่าจะเติบโต 3-6% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโต 6-9% โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้กำลังซื้อปานกลางถึงสูง ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ส่วนตลาดคนไข้ต่างชาติกลุ่ม Medical Tourism อย่างจีน ก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีมานี้ ซึ่งในที่นี้รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลรัฐที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไข้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะมาตรการควบคุมราคาสินค้ายา เวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์ ที่น่าจะกดดันการทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกันไปในแต่ละราย ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากค่ายาราว 36% ของรายได้ทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า น่าจะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนโดยรวมเฉลี่ยลดลงราว 1.0- 2.0%
“ปี 2563 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น และจะส่งผลต่อรายได้และการทำกำไรในระยะข้างหน้า หลังจากเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เทียบกับในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา รายได้ขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี (CAGR ปี 2556-2561) ขณะที่กำไรสุทธิ เติบโตเฉลี่ย 10.7% ต่อปี (CAGR ปี 2556-2561) ”
อย่างไรก็ตามยังมีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ที่น่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะที่อยู่ในทำเลที่ยังไม่มีคู่แข่ง หรือเน้นเจาะกลุ่มคนไข้ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของรัฐ หากรัฐมีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหัวของคนไข้กลุ่มประกันสังคม ก็น่าจะช่วยหนุนรายได้และทำให้กำไรของกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลกลุ่มคนไข้ประกันสังคม ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกระจายพอร์ตคนไข้ไปในกลุ่มที่มีศักยภาพและหลากหลายขึ้น น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มากเกินไป นอกจากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการ บริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนด้านต่างๆ ในระยะยาว และการรักษาคุณภาพของการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอแล้ว การปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายแห่งได้ขยาย ธุรกิจอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ธุรกิจร้านขายยา (Pharmacy) รวมถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ให้บริการด้าน สุขภาพ ในการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพมากขึ้น เช่น ธุรกิจนวดและสปา ธุรกิจผลิตภัณฑ์และอาหารเสริม หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตรายได้ ที่มาจากกลุ่มธุรกิจ Non-hospital น่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะเลือกใช้กลยุทธ์ใดในการปรับตัวและรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า ท้ายที่สุดจะต้องคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ รวม ถึงการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) หรือภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปรับตัวดังกล่าวให้เหมาะสม