KTBST ปรับโครงสร้างขึ้นโฮลดิ้ง ขยายธุรกิจครบวงจร-ลุยปล่อยกู้พนง.แก้หนี้

HoonSmart.com>> บล.เคทีบี ปรับโครงสร้างธุรกิจตั้ง “KTBST Holding” สู่เป้าสถาบันการเงินครบวงจร จ่อตั้งบริษัทลูกรุกปล่อยกู้พนักงานออฟฟิศแก้หนี้ พร้อมแนะนำบริหารจัดการเงินลงทุน โชว์รายได้ปีนี้โตสวนอุตสาหกรรม รอยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามแผน

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST SEC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างบริษัทด้วยการจัดตั้งบริษัท เคทีบีเอสที โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST Holding ขึ้น เพื่อขยายธุรกิจให้ KTBST Holding เป็นสถาบันการเงินครบวงจรมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและรองรับการขยายตัวของทุกธุรกิจในอนาคต

นอกจากนี้ยังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านเทคโนโลยี (Digital Disruption) และคู่แข่งใหม่ ๆ ตลอดทั้งการสร้างโอกาสในการยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยนำ KTBST Holding เข้าตลาด ซึ่งคาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในปี 2563

ปัจจุบัน KTBST มีบริษัทภายใต้กลุ่ม ณ วันที่ 29 พ.ย.2562 ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด และบริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกและยังมีแผนขยายลงทุนในบริษัทอื่นๆ ในปี 2563

ดร.วิน กล่าวว่า บริษัทมีแผนตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ KTBST Lend ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อกับผู้ที่มีปัญหาหนี้ โดยเบื้องต้นจะให้บริการกับบริษัทเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เสมือนเป็นคลินิคแก้หนี้ ขณะเดียวกันจะให้คำแนะนำแก่ผู้ขอกู้เพื่อบริหารจัดการด้านการเงินการลงทุนด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ โดยมีส่วนงานเวลท์ให้คำปรึกษา ถือเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับบริษัทเกาหลีใต้จัดตั้งบริษัท We Digital ให้บริการทางด้านการเงินดิจิทัล

สำหรับผลดำเนินงานของกลุ่ม KTBST ในช่วง 11 เดือน ปี 2562 มีรายได้รวม 1,104 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท โดยมีกำไรลดลงเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ด้านผลดำเนินงานของ KTBST SEC มีรายได้รวม 1,092 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44 ล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่ยังดีกว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่รายได้ กำไรลดลง 50% โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ 42% และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการอื่น ๆ ได้แก่ ตราสารหนี้ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และวาณิชธนกิจ 38% นอกจากนั้นเป็นรายได้จากธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจ Block Trade 12% ที่เหลือมาจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์และรายได้อื่น ๆ 8%

ส่วนธุรกิจการซื้อขายในตลาด TFEX บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด อยู่ที่ 5.15% ติดอันดับ 7 ของอุตสาหกรรม ส่วนธุรกิจ อื่น ๆ (ณ สิ้นเดือน พ.ย.) ของ KTBST ยังคงการเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) 80,000 ล้านบาท ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเติบโตขึ้น มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling Agent) ปัจจุบัน มี AUA เติบโตอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจด้านการออกตราสารหนี้ หรือ Corporate finance solution ในปีนี้บริษัทออกตราสารหนี้ทั้งตั๋วแลกเงิน และหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนให้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ กว่า 30 บริษัท มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นประจำกว่า 8,000 บัญชีเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 บัญชี จากปีก่อนหน้า ซึ่งในการดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ KTBST ไม่ได้เน้นขยายส่วนแบ่งการตลาด แต่เน้นการให้บริการการวางแผนการลงทุนแบบครบวงจรมากกว่าการเทรดหุ้นเพียงอย่างเดียว

ดร.วิน กล่าวว่า ในปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ 1,400 ล้านบาท เติบโต 26.3% และกำไรสุทธิ 101 ล้านบาท ขยายตัวถึง 243% โดยมาจาก KTBST REIT ซึ่งต้นปีเตรียมจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม และกลุ่มโลจิสติกส์ คลังสินค้า รวม 2 กองทุน มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ในปี 2563 เป็น 1 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบันในลักษณะของผลตอบแทนและความเสี่ยงในระดับปานกลาง มีจ่ายปันผลระหว่างทาง

นอกจากนี้ช่วงต้นปี 2563 KTBST SEC มีแผนจะเปิดให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ SET100 ผ่านแพลตฟอร์ม MT4 และขยายธุรกิจต่างประเทศให้ครอบคลุม ทั้งการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ กองทุนรวมต่างประเทศ และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร

ส่วนบบลจ.วี ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 4,839 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในสิ้นปีจะปิดที่ 5,000 ล้านบาท

“ภาพรวมในปี 2562 จะเห็นได้ว่าตลาดเงิน และตลาดทุน อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้การลงทุนมีความผันผวนตลอดทั้งปี อีกทั้งยังกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลง แต่จากการดำเนินธุรกิจของทั้งกลุ่มธุรกิจของ KTBST ที่หลากหลายและมีความพร้อมในธุรกิจทางการเงิน จึงทำให้บริษัทยังสามารถเติบโตและยังมีผลกำไร” ดร.วิน กล่าว

สำหรับแนวโน้มในปี 2563 เชื่อว่าภาวะตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจะทำให้นักลงทุนจะมองหาบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของตนเองและเหมาะสมกับภาวะการลงทุน 2563 ซึ่ง กลุ่มบริษัท KTBST ยังเดินหน้าให้บริการในฐานะสถาบันเงินที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจด้วยการมีธรรมาภิบาลที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ในการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร พร้อมด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนควบคู่ไปกับการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ