เปิดตัวเลขแบงก์กรุงเทพ ฟาดกำไรกัลฟ์ 5.5 พันล.อย่ากลัวปันผลลด

HoonSmart.com>>ตะลึง !!! แบงก์กรุงเทพ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี  ฯ อันดับ 9  สัดส่วน 47.50 ล้านหุ้น ฟาดกำไรกว่า 5.5 พันล้านบาท หรือ 260 %  จากราคาต้นทุน IPO 45 บาท  ผู้บริหารยืนยันหนักแน่น พอร์ตลงทุนหุ้น เป็นการลงทุน เพื่อกำไร ขายเมื่อราคาเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นในพอร์ตลงทุน ไปซื้อหุ้นแบงก์อินโดนีเซีย ปลอบอย่ากังวลเงินปันผล BBL ลด ให้มองการลงทุนในอนาคตเป็นที่ตั้ง

ความกังวลธนาคารกรุงเทพ (BBL) ขายหุ้นในพอร์ตลงทุนที่ถืออยู่จำนวนมากในหุ้น BTS (บีทีเอส กรุ๊ป  โฮลดิ้งส์) หมดไปแล้ว หลังจากกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาขายหุ้นออกไปกระเป๋าตุงกว่า 7.4 พันล้านบาท แล้ว ยังมีหุ้น GULF (กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์) ที่ความกังวลของนักลงทุนยังไม่สิ้นสุดการลุ้น ว่าธนาคารจะขายหุ้นออกมาเมื่อไร

จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ GULF ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุด 13 / 03 / 2562  ซึ่งธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 9 จำนวน 47.50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นรวม 7,671 ล้านบาท จากราคา ปิดล่าสุด 19 ธ.ค. 62 ที่ราคา 161.50 บาท หากคิดต้นทุนซึ่งแบงก์ถืออยู่ตั้งแต่ ราคาไอพีโอ 45 บาท มีต้นทุนอยู่ที่ 2,137.50 ล้านบาท คิดเป็นกำไรจากการลงทุน 5,534 ล้านบาท  กำไรหุ้นละ 117 บาท หรือ 260 %

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ( BBL ) เปิดเผยกับ Hoonsmart.com ว่า ธนาคารมีหน่วยงานบริหารการลงทุน เป็นผู้บริหารพอร์ตลงทุนซื้อขายตามปกติ จังหวะการลงทุนที่เหมาะสม  เหมือนผู้ลงทุนทั่วไป ที่ดูว่า การลงทุนไหนเหมาะสม จุดไหนราคาไหน ควรขายออก

” ถ้าราคาหุ้นถึงจุดอิ่มตัว รายได้พอสมควร หน่วยงานลงทุน จะพิจารณาขายก่อน เป็นการทำตามหน้าที่ อยู่ได้อยู่นอกวิสัยการทำของแบงก์การขายเงินลงทุนในหุ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการซื้อแบงก์อินโดนีเซียแต่อย่างใด เป็นการซื้อขายปกติตามจังหวะที่เหมาะสม”

เมื่อถามว่า หุ้น GULF ที่แบงก์กรุงเทพถืออยู่ จะถูกขายออกมาเช่นเดียวกับหุ้น BTS หรือไม่ นั้น ผู้บริหาร ไม่สามารถฟันธงได้ ขึ้นกับองค์ประกอบของตลาด จุดอิ่มตัวของราคา  และผลตอบแทน  แต่ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขายเพื่อนำเงินไปลงทุนซื้อแบงก์อินโดนีเซีย เนื่องจาก ธนาคารมีช่องทางระดมทุนหลายช่องทาง เช่น การออกหุ้นกู้ต่างประเทศ ซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้ว

ส่วนนักลงทุนที่กังวล BBL ต้องเพิ่มทุน รองผู้จัดการใหญ่ ยืนยัน ไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะหลังจากลงทุนแบงก์อินโดนีเซียแล้ว BBL ยังมีฐานะกองทุนที่แข็งแกร่ง ประมาณ 18 % ของเงินกองทุน เป็นแบงก์ที่แข็งแรงมากระดับต้น ๆ ของไทย

” การออกไปลงทุนของแบงก์กรุงเทพ ครั้งนี้ ไม่น่าเป็นกังกวล กับเการเพิ่มทุน ไม่มีผลกับเงินปันผล  ซึ่งการซื้อแบงก์อินโด ฯ มีแนวโน้มทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น ไม่ต้องกังวล ยืนยันอีกครั้งว่าแบงก์กรุงเทพ ไม่ต้องเพิ่มทุน ไม่จำเป็นต้องของเงินลงทุนในหุ้นออก ซึ่งการขายหุ้น กับการลงทุนแบงก์อินโด มองว่า 2 เรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกันได้” ผู้บริหาร กล่าว