HoonSmart.com>>กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ รักษาอันดับเครดิต “A” คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิฯที่ “A-” ทริสมองบวก บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ กำลังการผลิตพุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 6,906 เมกะวัตต์ กระจายความเสี่ยงรอบด้าน แม้มีภาระเงินกู้สูงในช่วงขยายงานจำนวนมาก บริษัทสามารถจัดการสภาพคล่องรองรับหนี้ได้
บริษัททริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ระดับ” A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ระดับ “A-”ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ระดับ เนื่องจากมีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง เมื่อเทียบกับเงินกู้ปัจจุบันของบริษัทย่อย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” จากทริสเรทติ้ง รวมถึงผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงของการขยายงานจำนวนมาก เชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม คาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 7,000-13,000 ล้านบาทต่อปี เพียงพอชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ณ เดือนก.ย.2562 รวมกันอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งคิดตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินงานแล้ว 2,701 เมกะวัตต์ (MW) หลังจากพัฒนาโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 6,906 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) จำนวน 5,072 เมกะวัตต์ หรือ 73% ของทั้งหมด และโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 1,403 เมกะวัตต์ หรือ 20% ของทั้งหมด
บริษัท GULF จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่สุดที่มีโรงไฟฟ้าเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. หลังจากพัฒนาโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ 2 โครงการ ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกัน 3,710 เมกะวัตต์แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP แต่ละสัญญาที่ทำไว้กับ กฟผ. มีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์
สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment – AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทตราบเท่าที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัทก็ตาม ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญา ซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้กระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้
นอกจากนี้บริษัทยังมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้ามากกว่า 30 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลัก คิดเป็นสัดส่วน 93% หรือ 6,450 เมกะวัตต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 456 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศเวียดนาม (430 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย (25 เมกะวัตต์) บริษัทขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท
โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจำนวน 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งที่คิดตามสัดส่วนการลงทุน 1,256 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ภายใต้โครงการ IPP อีก 4 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งที่คิดตามสัดส่วนการลงทุน 5,072 เมกะวัตต์ ตั้งกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 7 โรง ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี อยุธยา และระยอง
สำหรับคณะผู้บริหารและคณะผู้ปฏิบัติการของบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี และทุกโครงการล้วนมีประวัติการเปิดดำเนินงานได้ตรงตามเวลาและภายในงบประมาณที่กำหนดไว้ ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่จะเปิดได้ตรงตามเวลา นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง เช่น Siemens รวมถึง GE และ Mitsubishi พร้อมมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ระยะยาวระยะยาวกับผู้ผลิตอีกด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการรับบริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้า รวมถึงช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ การมีพอร์ตไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและเทอมการค้าที่ดีจากผู้ผลิต รวมถึงโรงไฟฟ้า SPP ที่มีรูปแบบเหมือนกันรวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่แบบรวมศูนย์ยังช่วยให้มีอะไหล่ที่เพียงพอและยังสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
บริษัทยังมีวิธีบรรเทาความเสี่ยงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง โดยบริษัทได้เลือก Toyo Engineering Corporation เป็นผู้รับเหมา EPC สำหรับโรงไฟฟ้า SPP และ Mitsubishi Hitachi Power System (MHPS) ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่ได้รับคัดเลือก สำหรับโรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่ จำนวน 2 แห่ง หลังจากมีประวัติผลงานที่ดี ก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ให้แก่บริษัทมาแล้ว 2 แห่งและสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและอยู่ภายใต้งบที่กำหนดไว้เช่นกัน บริษัทเพิ่งลงนามในสัญญารับเหมา EPC กับ PowerChina HDEC- INTL Consortium สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ที่มีบริษัทถือหุ้นโดยรัฐบาลจีนร่วมด้วย มีประสบการณ์มากมายในงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทรวมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลม
การขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนามส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโต เพิ่งเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันทั้งหมด 430 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 แห่ง (135 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 1 แห่ง (295 เมกะวัตต์) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งแรกขนาดกำลังการผลิตรวมกัน 107 เมกะวัตต์นั้นดำเนินงานแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนโครงการที่เหลือจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2563 และ 2564 อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าในเวียดนามมีความเสี่ยงหลายด้าน เช่นการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงความล่าช้าของงานก่อสร้าง
ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN) ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นยังไม่แข็งแรงเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ระบบสายส่งไฟฟ้าของเวียดนามในบางจังหวัดโดยเฉพาะบินห์ถ่วนและนินห์ถ่วนนั้นก็กำลังเผชิญกับปัญหาความสามารถในการรองรับปริมาณกระแสไฟฟ้า ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกอย่างน้อย 2 ปี แต่ความเสี่ยงของบริษัทในเวียดนามถูกจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าไม่สูงนักเมื่อพิจาณาจากที่ตั้งของโครงการ เพราะเงินลงทุนรวมของบริษัทต่ำกว่า 10% ของพอร์ตไฟฟ้าทั้งหมดเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทุกแห่งดำเนินงานแล้ว
ส่วนการขยายไปสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่นอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ทริสรวมเฉพาะงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ในประมาณการ โดยบริษัทร่วมทุนจะได้รับเงินปีละประมาณ 1 ,000 ล้านบาทจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 30 ปีนับตั้งแต่งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดไว้ในปี 2566 ทั้งนี้ ทริสคาดว่ารายได้จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีขนาดไม่มากนักในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการขยายงานขนาดใหญ่ ในระหว่างปี 2562-2567 ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.42 แสนล้านบาท โดยประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาทจะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง 2 แห่งให้แล้วเสร็จ ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงการอื่น ๆ
“ทริสคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 73% ในปี 2565 จาก 56.2% ณ เดือนก.ย. 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 10 เท่า และจะเริ่มดีขึ้นในปี 2565 จนมาอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายลงที่ 4-5 เท่าภายในปี 2568 เมื่อโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทเปิดดำเนินงาน โดยจะเริ่มรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้า SPP และ IPP ได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2568 จากเกือบ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 จากเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2562 “ทริสระบุ
แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสว่าโรงไฟฟ้าจะมีการดำเนินงานอย่างราบรื่นและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ