โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
สัปดาห์ที่ผ่านมา วุ่นกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ใน กทม. เพราะจะได้รับจดหมายรักจากสำนักงานเขต สำหรับคนที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่ต่างจังหวัด ก็จะได้รับจดหมายรักจากเทศบาลหรือ อบต. เป็น หนังสือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (แบบใบแจ้งข้อมูล………….) เรียกให้เราในฐานะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ไปแจ้งยืนยันความเป็นเจ้าของ ขนาดพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ และการใช้ประโยชน์ว่าตรงตามกับที่ภาครัฐประเมินให้ โดยให้เวลาเราในการแก้ไขข้อมูลแค่ 15 วันนับจากวันที่ได้รับจดหมาย หากไม่แก้ถือว่าข้อมูลตามที่แจ้งมาถูกต้อง
ปัญหา ความชุลมุนวุ่นวาย ก็เกิดตรงนี้เลย
1) หลายคนงงจดหมายฉบับนี้มาทำไม และลักษณะการใช้ประโยชน์ที่แบ่งเป็น อยู่อาศัย อื่นๆ ว่างเปล่า/ไม่ทำประโยชน์ มันแปลว่าอะไร มันคืออย่างนี้ครับ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4 ประเภท คือ
a) เกษตรกรรม : ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์/สัตว์น้ำ อัตราภาษีเริ่มที่ 0.01% ยกเว้น อปท. ละไม่เกิน 50 ล้านบาท และยกเว้นให้สำหรับบุคคลธรรมดา 3 ปีแรก
b) ที่อยู่อาศัย : แบ่งเป็น
(1) บ้านหลังหลัก เจ้าของบ้านและที่ดินมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน) ยกเว้นภาษีจากราคาประเมิน 10 หรือ 50 ล้านบาทแรก
(2) บ้านหลังอื่น ๆ เจ้าของบ้านมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ยกเว้นภาษี 10 หรือ 50 ล้านบาทแรก แต่อัตราภาษีไม่สูงเริ่มที่ 0.02%
c) ที่ว่างเปล่า/ไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ : ทิ้งที่ดินไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้า อัตราภาษีในปีนี้ 0.3%
d) อื่น ๆ : พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ บ้านให้เช่า อื่น ๆ อัตราภาษีในปีนี้ 0.3%
ทีนี้ จดหมายที่หลายคนได้รับ โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของโฉนดแต่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนบ้าน อย่างเช่นคนที่ซื้อคอนโดยหรือบ้านให้ลูกอยู่ หรือมีบ้านชานเมืองสำหรับพักช่วงวันหยุด ซึ่งโดยลักษณะแล้วเป็น “บ้านหลังอื่นๆ” อัตราภาษี 0.02% หรือล้านละ 200 บาท ถ้าเรามีบ้านหลังอื่น ราคาประเมิน 5 ล้านบาท จะเสียภาษี 1,000 บาทแต่ในจดหมายจะระบุลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น “อื่นๆ” อัตราภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท เราจะเสียภาษี 15,000 บาท เสียแพงขึ้น 15 เท่า เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจ รีบแก้ไขข้อมูลให้ทันดีกว่า แล้วต้องแก้ไขให้ทันวันไหน
2) กว่าจดหมายจะมาถึง ถ้านับจากวันที่ลงในจดหมายก็เกือบ 15 วันไปแล้ว บางคนก็เกิน 15 วันไปแล้ว หลายคนตกใจ แล้วจะแก้ไขทันมั๊ยเนี่ย ถ้าแก้ไขไม่ทัน ถือว่ายอมรับเลยเหรอ? เรื่องนี้สบายใจได้ครับ เท่าที่ทราบทางเขตไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ แต่ต้องแก้ให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2563 เพราะกฎหมายระบุชัด คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดในวันที่ 1 มกราคมเป็นคนเสีย และเสียในอัตราตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ถ้าแก้ไขไม่ทัน เราก็จะโดนประเมินภาษีตามที่เขาระบุ พูดง่ายต้องแก้ภายใน 27 ธันวาคม 2562เพราะเป็นวันทำการสุดท้ายของปีนี้ แล้วแก้ไขอย่างไร ที่ไหน
3) การแก้ไขข้อมูลต้องไปที่เขตที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ เอาเอกสารที่เขาขอไปด้วย แต่คิดดูนะ บางคนอยู่ต่างจังหวัด ซื้อคอนโดให้ลูกอยู่เรียนหนังสือที่กรุงเทพ ก็ต้องเดินทางมาสำนักงานเขตที่กรุงเทพยื่นแก้ไขข้อมูล เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน และหากคนที่มีที่หลายจังหวัด คงได้เที่ยวทั่วไป ไม่รู้โครงการบาทเดียว เที่ยวทั่วไทย จะใช้ได้ป่าว และยิ่งช่วงปลายปี เป็นช่วงปิดยอดธุรกิจ บางเป็นช่วงไปพักผ่อน ขึ้นดอยรับอากาศหนาว แต่กลับต้องมาทำเรื่องที่ไม่ควรต้องเสียเวลามาหนาวแอร์ที่เขตแทน และนึกภาพคนที่มีอสังหาริมทรัพย์ไปออกันที่เขต แต่ละคนในการแจ้งแก้ไขใช้เวลาประมาณ 15 นาที วันนึงจะแก้ไขได้กี่คน บางคนขอโอนย้ายทะเบียน เพื่อเปลี่ยนบ้านหลังอื่นเป็นบ้านหลังหลัก ยิ่งใช้เวลาเยอะ หลายคนไปเช้ากว่าจะเสร็จเย็นเลย งง เหมือนกัน เทคโนโลยีก็ไปไกลมากแล้ว ทำไมไม่ทำระบบให้ยื่นแก้ไขผ่านอินเตอร์เนต สะดวกทุกคนทั้งประชาชนและรัฐบาล
4) แล้วเห็นรัฐบาลประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินไปแล้วจากเมษายนเป็นสิงหาคม ยังจำเป็นต้องไปแจ้งแก้ไขภายในปีนี้อีกเหรอ มาดูหนังสือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้เลื่อนกันนะ ตอนนี้จดหมายที่พวกเราได้รับ คือ ข้อ 1 ตามตารางนี้ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เลื่อนจากภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็น มีนาคม 2563 สรุปคนที่ได้เลื่อน คือ อปท. ไม่ใช่เรานะ ดังนั้นคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดในวันที่ 1 มกราคมก็ยังเป็นคนเสีย และเสียในอัตราตามลักษณะการใช้ประโยชน์เหมือนเดิม เพียงแต่ตอนควักเงินจ่ายภาษี ไม่จำเป็นต้องรีบจ่ายภายในเมษายน เลื่อนเป็น สิงหาคม สรุปพวกเราคนที่ได้รับจดหมาย ถ้าเห็นว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ต้องรีบแก้ไขภายใน 27 ธันวาคมนี้เหมือนเดิม
5) คนที่ไม่ได้รับจดหมายทำยังไง กฎหมายไม่มีระบุว่า คนที่ได้รับจดหมายเท่านั้น คือ คนที่ต้องเสีย ดังนั้น ถึงไม่ได้รับจดหมายแจ้งการประเมินลักษณะการใช้ประโยชน์ ก็ควรต้องรีบไปที่เขตที่อสังหาริมทรัพย์เราตั้งอยู่เช่นกัน เพื่อแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง กันไว้ดีกว่าแก้ เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลจะประเมินที่ดินเราเป็นอะไร
สรุปก็คือ รีบไปแจ้งแก้ไขข้อมูลให้ทันปีนี้ ไม่ว่าจะได้รับจดหมายจาก อปท. หรือไม่ กันไว้ดีกว่าแก้ ปลอดภัยไว้ก่อน ตามปัจฉิมโอวาท คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานที่ว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”