HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ(BBL)เคยขึ้นชื่อเรื่องขยับตัวช้า กว่าจะออกบริการหรือผลิตภัณฑ์อะไรมาซักอย่าง ก็จะทำหลังแบงก์อื่น แต่จู่ๆกลับสร้างปรากฎการณ์ใหม่ที่คาดไม่ถึง ประกาศ”ซื้อธนาคารพีที เพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ” มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันต่างประเทศมีคำถามเกิดขึ้น แต่ยังหาคำตอบไม่ได้ ตัดสินใจเทกระจาดหุ้นกันจ้าละหวั่น เพียง 2 วันเท่านั้น ราคาดิ่งลงแรงกว่า 10% กดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ทรุดลงถึง 33,404 ล้านบาท และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะลงไปลึกถึงจุดไหน แม้ว่านักวิเคราะห์ต่างประสานเสียงตรงกันว่า ถูกแสนถูก ควรค่าแก่การซื้อเพื่อถือลงทุนยาว…
“เดชา ตุลานันท์ “ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ www.HoonSmart.com ว่า เข้าใจผิด แบงก์กรุงเทพ ดูว่าช้า แต่ Slow but sure ถ้าไม่ชัวร์ เราไม่ทำ สังเกตุดูได้จาก Product ที่เราออก ไม่มีอะไรพลาด เพราะเรา แน่ใจแล้ว ถึงได้ออก
ครั้งนี้ ก็เหมือนกัน เรา ไม่ใช่พูดๆ “เราทำ เราดู เราศึกษา แน่ใจแล้ว ถึงได้ออก” เมื่อมีอะไรดี ถึงได้พูด ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่มีใครรู้ ผมไม่กล้าพูดตั้งแต่ต้น เพราะว่ายังไม่ได้เซ็น พูดไม่ได้ เดี๋ยวเสียคน
ราคาหุ้นที่จ่ายไปอยู่ที่ 1.77 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชีของธนาคารพีที เพอร์มาตาฯ นั้นนักวิเคราะห์มองว่าไม่ถูกเลย “ราคาไม่ได้แพงเลย เทียบอัตราส่วนของเค้า ทุกอย่างของคนเค้าดีหมด”
หลังจากซื้อธนาคารพีที เพอร์มาตาฯแล้ว แบงก์กรุงเทพจะเป็นอย่างไรต่อไป สบายใจได้ ไม่มีปัญหา แม้ว่าการทำงานแบงก์ ยังมีปัญหาบ้าง ก็ต้องแก้ไข ต้องบริหารต่อไป
แหล่งข่าววงการแบงก์พาณิชย์ กล่าวว่า อัตราส่วนทางการเงินของธนาคารพีที เพอร์มาตาที่ดูด้อยกว่าธนาคารกรุงเทพหลายจุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแบงก์อินโดนีเซียมีการปรับโครงสร้าง ทำให้ตัวเลขหลายตัวไม่ดี แต่จะค่อยๆดีขึ้นในระยะยาว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แบงก์กรุงเทพต้องจ่ายราคาค่าหุ้นค่อนข้างสูง
อีกเหตุผลหนึ่งที่แบงก์กรุงเทพได้หุ้นเกือบ 90%มาครั้งนี้ ขณะที่ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ของญี่ปุน ก็สนใจ เพราะทางการอินโดนีเซียไม่ต้องการให้แบงก์ญี่ปุ่นเข้าไปทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้ธนาคารกรุงเทพได้รับโอกาสในการเข้าไปขยายตลาดในอินโดนีเซีย
สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น BBL ทรุดดตัวลงแรง 2 วันติดต่อกัน (12-13 ธ.ค.62) เกิดจากผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะสถาบันต่างประเทศปรับพอร์ตขายออกมามาก วันศุกร์ที่ผ่านมามีการซื้อขายมากถึง 13,065 ล้านบาท และสิ้นวันปรากฎว่านักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิหุ้นไทยมากกว่า 6,946 ล้านบาท และคาดว่ายังไม่หยุดขาย เพราะไม่แน่ใจในข้อมูล
นอกจากนี้ หุ้นในพอร์ตของธนาคารกรุงเทพ ก็มีการถูกขายออกมา โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นไปมาก เพราะนักลงทุนกลัวว่าธนาคารกรุงเทพจำเป็นต้องขายออกมา เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารอินโดฯในครั้งนี้มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF)ปรับตัวลงผิดปกติ สวนทางกับตลาดหุ้นโดยรวมที่ปรับตัวขึ้นแรงกว่า 10 จุดในวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำ”ซื้อ” หุ้น BBL เช่น บล.โนมูระ พัฒนสิน ให้ราคาเป้าหมาย 202 บาท ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงรอบนี้ อยู่ที่ P/BV เพียง 0.7 เท่า ซึ่งอยู่ในโซนเดียวกับจุดต่ำสุดของ BBL ในช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลก สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง มองเป็นจุดในการทยอยสะสมหุ้นระยะยาว-ยาวที่ดี
บล.ฟินันเซีย ไซรัสคงคำแนะนำซื้อราคาเหมาะสมที่ 187 บาท อิง P/BV 0.80 เท่า ส่วนราคาซื้อขายที่ 1.7 เท่า P/BV สำหรับธนาคารพีที เพอร์มาตาฯ ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยที่มีการ M&A กันในอดีตและมีพรีเมี่ยมจาก Long-term benefit รวมถึง control premium
“หากคิดกำไรเฉพาะของ BBL มีแนวโน้มลดลง แต่หากรวมพีที เพอร์มาตาฯ ผลกำไรน่าจะทรงตัวได้ และจะดีขึ้นในปี 2564 พร้อมกับ ROE ที่จะขึ้นมาเหนือ 8% ได้ ซึ่งดีกว่าการทิ้งเงินทุนไว้โดยไม่ทำอะไรเลย”บล.ฟินันเซียไซรัสระบุ