HoonSmart.com>> โบรกฯ ส่วนใหญ่ยังเชียร์ “ซื้อ” BBL แม้ซื้อ PT Bank Permata อินโดนีเซียราคาแพง กระทบราคาหุ้นระยะสั้น มองบวกในระยะยาว “บล.ฟิลลิป” ให้เป้าสูงสุด 235 บาท ฟากบล.กสิกรไทยให้ต่ำสุด 198 บาท แนะเพียง “ถือ” ด้านราคาหุ้น BBL แรงขายไม่หยุดร่วง 8 บาท ซื้อขายทะลุหมื่นล้านบาท
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BBL ถูกเทขายต่อเนื่อง ณ เวลา 15.17 น.ของวันที่ 13 ธ.ค.2562 ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 153.50 บาท ลดลง 8 บาท หรือ -4.95% มูลค่าการซื้อขาย 10,475.20 ล้านบาท จากราคาเปิด 157 บาทและลงไปต่ำสุด 152 บาท และช่วงเช้ามีบิ๊กล็อต 1 รายการ จำนวน 809,300 หุ้น ราคาเฉลี่ย 155.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 125.64 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มองราคาหุ้น BBL ปรับตัวลงต่อ จากความกังวลเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกับ PT Bank Permata TBK ที่คิดเป็น PBV 1.77 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ถูก โดยการรวมกิจการในต่างประเทศ ช่วงแรกอาจมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ แต่มอง BBL มีประสบการณ์การทำธุรกิจในอินโดฯ ตั้งแต่ปี 2511
ขณะที่เงินเข้าซื้อกิจการ 9 หมื่นล้านบาท มองว่าคุ้มกว่าการบริหารสินทรัพย์ปัจจุบันของ BBL ที่สร้าง NIM ราว 2%
ด้านราคามี PBV ที่ 0.7 เท่า และ PER ราว 9 เท่า และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลราว 4% ต่อปี แนะนำ ซื้อทยอยสะสมสำหรับการลงทุนระยะกลางขึ้นไป ราคาเป้าหมาย 217 บาท
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มองว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ได้บวกกับ BBL ในระยะสั้นนัก เพราะราคาที่ซื้อ P/BV 1.77 เท่า เทียบกับ P/BV ธนาคารขณะนี้ที่ 0.7 เท่า ด้าน ROE ของ Bank Permata ที่ 6% ก็ต่ำกว่า BBL ที่ 8% อย่างไรก็ตาม ถือเป็นแนวทางที่จะทำให้รายได้และกำไรของ BBL เติบโตได้
อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำ ซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 217 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปีนี้ที่ 0.9 เท่า
บล.เคที ซีมิโก้ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BBL ราคาเป้าหมาย 195 บาท โดยมองว่าการตัดสินใจของ BBL ในการเข้าซื้อกิจการ 100% ใน PT Bank Permata Tbk (Permata) จะสร้างผลประโยชน์และ synergies ให้กับ BBL ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขยายตลาดและกระจายฐานรายได้ไปสู่ตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่า รวมถึงด้านการใช้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องส่วนเกินที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดจะช่วยเพิ่ม ROE ในระยะยาว ขณะที่ความท้าทายสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ประสิทธิภาพของ BBL ในการสร้าง synergies และมูลค่าเพิ่มหลังการเข้าลงทุน รวมถึง transition risk ที่อาจเกิดขึ้น
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า การเข้าซื้อจะทำให้กำไรปี 63 เพิ่ม คงราคาพื้นฐาน 235 บาท ยังแนะนำ “ซื้อ” คาดว่าการเข้าซื้อจะแล้วเสร็จในปี 63 การรวมงบของ Permata เข้ามาจะทำให้กำไรปี 63 ของ BBL เพิ่มขึ้นเป็น 40 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ที่ 39 พันล้านบาท แต่ไม่มีผลต่อ BV อย่างมีนัย ทำให้ราคาพื้นฐานยังคงไว้ที่ 235 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คงแนะนำ “ถือ” BBL ที่ราคาเป้าหมาย 185 บาท อิง PBV ที่ 0.81 เท่า ซึ่งมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาว แม้ว่าจะซื้อที่ 1.77 เท่า PBV ซึ่งถือว่าแพงเมื่อเทียบกับการซื้อขายดีลของกลุ่มธนาคารไทยในอดีตที่อยู่ 1.5 เท่า PBV แต่ถ้าเทียบกับธนาคารในอินโดนีเซียถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยที่เทรดในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.75 เท่า
“คาดว่าดีลดังกล่าวจะมี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิในปี 2563 ราว 8.8% ขณะที่ BBL ตั้งเป้า ROE ของ BNLI ใน 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับสูงถึง 10% จากไตรมาส 3/2562 ที่ 6% จาก GDP ในอินโดฯที่เติบโตได้สูงและเน้นการปล่อยสินเชื่อ SME และรายใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการนี้จะทำให้ CAR ลดลงไป 3% แต่ BBL ยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลเท่าเดิมที่ระดับประมาณ 35%”บล.เคทีบี ระบุ
ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวลง -9% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเรื่องดีลที่มองว่าแพง แต่เรามองว่าราคาได้ปรับตัวลงมาสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปบ้างแล้ว ซึ่งมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะมีการ rebound กลับขึ้นไปได้ เพราะดีลนี้เราคาดว่าระยะยาวจะสร้างผลประโยชน์ให้ BBL ได้
บล.หยวนต้า ยังคงแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BBL เนื่องจากราคาในปัจจุบันมี Upside ถึง 36% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2563 ที่ 220 บาท และปัจจุบันซื้อขายในระดับ PBV เพียง 0.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี – 2 S.D. แต่ในแง่กลยุทธ์คาด BBL อาจเผชิญแรงขายในระยะสั้นจากการเข้าซื้อหุ้น Permata ในราคาที่สูงกว่าที่ตลาดคาด และ ROE ที่จะลดลงหลังการรวมงบจาก 8.8% เหลือ 8.5% เป็น Overhang ในระยะสั้น
ทั้งนี้ ประเมินว่าทุกๆ 0.1% ของ ROE ที่ลดลงจะทำให้ราคาเป้าหมายของ BBL ลดลง 2.4 บาท อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแผนการทำธุรกิจในอนาคตที่ชัดเจน ทำให้เรามองว่าราคาหุ้น BBL ยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลง
บล.ทรีนีตี้ มองเป็นกลางต่อประเด็น BBL ยื่นซื้อ Permata Bank ในอินโดฯ แม้ว่าราคาซื้อขายจะสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า แต่ด้วยอัตราการเติบโตของ Permata Bank ช่วยชดเชยปัจจัยดังกล่าวได้ และธุรกรรมดังกล่าวแทบไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่องบการเงินของ BBL โดยในเบื้องต้นคาดว่า ROA จะลดลงเล็กน้อย ขณะที่ ROE จะปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังการรวมงบการเงิน ขณะที่ด้านเงินกองทุนยังเพียงพอ ทำให้ยังคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 205 บาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่าจะส่งผลด้านลบมากกว่า เนื่องจากไม่มี synergy ไม่ได้ช่วยขยาย digital banking ไม่เพิ่มอำนาจการแข่งขันในตลาด และราคาที่ซื้อมาก็ถือว่าแพง เนื่องจากประเด็นหลักที่มอง คือ เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จึงแนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยระดับที่เหมาะจะเข้าซื้อคือที่ P/BV ประมาณ 0.6x (BVPS 230/245 บาทในปี 2562/63) ส่วนที่ถืออยู่แนะนำ ถือ ราคาเป้าหมาย 198 บาท
บล.กสิกรไทย มองว่าเป็นดีลที่ไม่ถูก มีความท้าทายในการเพิ่มขนาดและไม่สร้าง synergy ทันที โดยมองว่าดีลนี้มีราคาซื้อขายค่อนข้างแพงด้วย BV ที่ 1.77 เท่า เทียบกับ ROE ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ของเพอร์มาตาที่ 6.3% (ราคาหุ้น BBL ซื้อขายด้วย PBV ล่วงหน้าที่ 0.7 เท่า เทียบกับ ROE ปี 2563 ที่ 8.3% และซื้อขายด้วย PBV ในระดับพรีเมียมเมื่อเทียบกับหุ้นธนาคารขนาดเล็กของอินโดนีเซียที่ซื้อขายใกล้กับ PBV ที่ 1 เท่า) คงคำแนะนำ “ถือ” BBL ด้วยราคาเป้าหมายที่ 184 บาท
บล.ซีจีเอส ซไอเอ็มบี แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 207 บาท
อ่านข่าว
BBL ซื้อแบงก์อินโดฯ 9 หมื่นล้าน ยันไม่เพิ่มทุน-ปันผลดี กำไรมั่นคง
BBL เซ็นซื้อแบงก์อินโด 8.1 หมื่นลบ. จ่าย 1.77 เท่าของบุ๊ก ยันไม่เพิ่มทุน