“อุเทน ชาติภิญโญ” เดือด ซัด 244 ส.ส. ไร้จิตสำนึก

“อุเทน ชาติภิญโญ” ซัด 244 ส.ส.ไร้จิตสำนึก ปชต. ปล่อยผีคำสั่ง ม.44 จวก “ประชาธิปัตย์” ละอุดมการณ์พรรค หวังแค่อยู่ร่วม รัฐบาล เชื่อยังตกต่ำมากกว่านี้ ท้า “อดีตบิ๊ก คสช.” รายคน หาก กมธ.สามัญชุดไหนตรวจสอบคำสั่ง คสช.ต้องกล้าหาญไปชี้แจง มิเช่นนั้น เท่ากับไม่ให้เกียรติฝ่ายนิติบัญญติ-ตัวแทน ปชช. หวังลึก ๆ ญัตติศึกษาแก้ รธน.ฉลุย เปิดทางแก้ไข-ร่างใหม่ โดยสภาฯ จากการเลือกตั้ง

นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.นี้ อยากเรียกร้องจิตสำนึก และขอตำหนิไปถึง ส.ส.ที่ไม่มีความกล้าหาญ โดยลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการใช้ศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ไม่ทำหน้าที่อยู่เคียงข้างประชาชน และหลักการประชาธิปไตย

ทั้งยังสนับสนุนอำนาจของคณะเผด็จการให้ยังคงอยู่ และกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้จนถึงวันนี้ ทั้งที่ผ่านการเลืองตั้งมาแล้ว เพราะเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ประกาศและคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 นั้น หลายฉบับเป็นการลุแก่อำนาจ และมีข้อบกพร่องมากมาย การที่ 244 ส.ส.ลงมติเช่นนั้น ก็เท่ากับไม่ศรัทธาอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ กฎหมายบังคับใช้จนถึงวันนี้ ทั้งที่ผ่านการเลืองตั้งมาแล้ว ถือเป็นความน่าละอายของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง

นายอุเทน ในฐานะอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ส.หลายคน เสนอญัตติตรวจสอบประกาศและคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ในทำนองเดียวกัน และยังมีอุดมการณ์พรรคในการต่อต้านเผด็จการ แต่ส่วนใหญ่กลับมีมติไม่เห็นด้วย เพียงเพราะไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ เพื่อต้องการอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปเท่านั้น โดยหลงลืมจุดยืนอุดมการณ์ของพรรค

เชื่อว่าจะยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมาก ยิ่งกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเชื่อเป็นเหตุที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเคยอาสาเป็นผู้กอบกู้พรรค ต้องจำใจทำตามมติพรรคดังกล่าว ก่อนตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่มากว่า 30 ปี และส่งผลให้นายพีระพันธุ์ ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วย

นายอุเทน ยังเรียกร้องด้วยว่า ในเมื่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้ ที่เป็นอดีต คสช.ทำทุกวิถีทางในการไม่ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบการใช้อำนาจตัวเองในอดีต โดยอ้างว่ามีกลไกตรวจสอบผ่าน กมธ.สามัญหลายคณะในสภาฯอยู่แล้ว จึงขอท้าไว้ล่วงหน้าว่า หาก กมธ.สามัญคณะใด นำประกาศและคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ขึ้นมาศึกษาและตรวจสอบ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะอดีตที่ปรึกษา คสช. ซึ่งทราบดีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการร่างประกาศและคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ทั้งหมด

ต้องแสดงสปิริตความกล้าหาญ และให้ความร่วมมือ ในการเข้าชี้แจงและให้ข้อมูลต่อ กมธ.สามัญคณะต่างๆตามที่ถูกเชิญ ไม่พยายามหาข้ออ้าง หรือพยายามตีรวนการทำหน้าที่ของ กมธ.สามัญ อย่างที่เกิดขึ้นในบางคณะตอนนี้ หากอดีต คสช.ไม่ให้ความร่วมมือ ก็คงหนีคำวิจารณ์ว่า ไม่ให้เกียรติฝ่ายนิติบัญญัตติ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนไปไม่ได้หรือมีอะไรหมกเม็ดในคำสั่งต่าง ๆ นั้น

นายอุเทน กล่าวถึงการพิจารณาญัตติด่วนขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของสภาฯที่คาดว่าจะเริ่มพิจารณาได้ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ว่า แม้ส่วนตัวจะมองว่า โอกาสในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่เมื่อจะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญฯที่แม้จะเป็นเพียงการศึกษาวิธีแก้ไข โดยที่ฝ่ายรัฐบาลคงบิดพลิ้วญัตตินี้ไม่ได้ เพราะบรรจุไว้ในนโยบายด้วย ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหวังจิตสำนึกของ ส.ส. ตลอดจนไปถึง ส.ว.ที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต แม้มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมที่เร็วกกว่านี้ก็ตาม เพราะทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่าการบังคับที่ผ่านมามีปัญหาเป็นอย่างมาก และนับวันยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

“ผมย้ำมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมาจากการร่างของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนโดยแท้ และต้องไม่สร้างเงื่อนไขใด หรือวางปมเงื่อนไว้ให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอย่างเช่นในขณะนี้” นายอุเทน ระบุ.