โบรกฯ มองต่างมุม JAS ผนึก DTAC “เอเซียพลัส” แนะจังหวะขาย JAS

HoonSmart.com>> บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มอง JAS ผนึก DTAC วินวินทั้งสองฝ่าย หนุนดีแทคมีบริการด้าน Fixed broadband ฟากจัสมินฯ ขยายฐานลูกค้าเพิ่ม ด้านบล.เอเซีย พลัส มอง JAS ได้ประโยชน์มากกว่า DTAC ปิดจุดอ่อนขาดบริการครบวงจร หนุน ARPU ดีกว่าประมาณการ แต่ยังต่ำกว่าค่าเช่าต้องจ่าย JASIF แนะจังหวะหุ้นขึ้น “ขาย” ด้าน “ดีแทค” ได้ประโยชน์จำกัดมีความเสี่ยงส่วนแบ่งรายได้ ต้นทุนต้องจ่ายให้จัสมิน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มองกรณี JAS ประกาศเป็นพันธมิตรกับ DTAC เพื่อร่วมเป็น strategic partner ให้บริการลูกค้าร่วมกันบนโครงข่ายเนตบ้านและมือถือ เป็น Win-Win กับทั้ง DTAC และ JAS โดย DTAC จะได้มีบริการด้าน Fixed broadband เหมือนกับ ADVANC และ TRUE ทำให้จะทำการตลาดได้ดีขึ้น ขณะที่ JAS จะขยายฐานรายได้และลูกค้าผ่าน DTAC

บล.เอเซีย พลัส ประเมินกรณีดังกล่าวเป็นบวกเล็กน้อยต่อ DTAC ช่วยปิดจุดอ่อนบริการไม่ครบวงจร จึงอาจหนุนจำนวนผู้ใช้บริการดีกว่าคาด แต่เนื่องจากความเสี่ยงหักล้างจากส่วนแบ่งรายได้หรือต้นทุนที่ต้องจ่ายให้ JAS จึงอาจจะได้ประโยชน์จำกัด มีแนวโน้มคงประมาณการและคำแนะนำ switch ตามเดิม

ส่วน JAS น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า DTAC จากโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้า DTAC 20.4 ล้านราย และช่วยปิดจุดอ่อนขาดบริการครบวงจร ลดความจำเป็นการใช้กลยุทธ์ราคา ช่วยให้รายได้มีความมั่นคงมากขึ้น และอาจเป็น upside ต่อรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้า (ARPU) ดีกว่าประมาณการ แต่เชื่อว่าต่ำกว่าค่าเช่าที่ต้องจ่ายเพิ่มให้ JASIF ระยะถัดไป และยังคาดพลิกขาดทุนปกติ แนะนำ ขาย เมื้อหุ้นปรับตัวขึ้นรับข่าวบวก บวกอ้อมๆ ต่อ JASIF ที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลความมั่นคงรายได้ค่าเช่าจาก JAS ในระยะยาว

ทั้งนี้ คาดเป็นลบเล็กน้อยต่อ ADVANC, TRUE จากการที่ DTAC และ JAS แข็งแรงขึ้น และมีบริการครบวงจรเทียบเคียงทั้ง 2 ราย แต่เชื่อว่าผลกระทบจำกัด จาก 1) ยังต้องติดตามกระบวนการในทางปฏิบัติร่วมมือระหว่าง JAS และ DTAC 2) โครงข่ายมือถือ DTAC ยังด้อยกว่า ADVANC, TRUE ในเรื่องความครอบคลุม ซึ่งต้องใช้เวลาราว 1-2 ปีในการขยาย

สำหรับราคาหุ้น JAS ปิดตลาดภาคเช้า 3 ธ.ค.2562 อยู่ที่ 5.45 บาท +0.10 บาท หรือ +1.87%

อ่านข่าว

JAS ผนึก DTAC ให้บริการลูกค้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่มีขีดจำกัด

“ฟิทช์” มองลบกลุ่มสื่อสารปี 63 จ่ายค่าคลื่นความถี่สูงฉุดรายได้