CP ชู “บัลลังก์โมเดล” ต้นแบบชุมชนปลูกข้าวโพดยั่งยืน ต่อเนื่อง 4 ปี

HoonSmart.com>> ซีพี เดินหน้าขับเคลื่อน โครงการ เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน “บัลลังก์โมเดล” ต้นแบบการยกระดับศักยภาพกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยั่งยืน ผลผลิตเพิ่มและคุณภาพตรงตามความต้องการตลาด ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจนและการบุกรุกป่า

ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา นายกเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”  อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการ 814 ครอบครัว พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวม 18,000 ไร่ เทียบกับปีแรก 2559 ที่มีเกษตรกรเข้าร่วม 184 คน พื้นที่ปลูก 4,700 ไร่ สะท้อนชาวบ้านมีความเชื่อมั่น โครงการ “บัลลังก์โมเดล” และมีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาขอศึกษารูปแบบเพื่อนำไปขยายผลต่อเนื่อง

“ผลลัพธ์ที่ได้รับจาก “บัลลังก์โมเดล” มากกว่าช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีความรู้และมีเทคโนโลยีช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นช่วยให้ขายได้ราคา ขณะเดียวกันสามารถรับมือกับความเสี่ยง ทั้งภัยแล้งและโรคระบาดได้ สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น และลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมลงได้จากการเลิกเผาตอซัง”นายกเทศบาลตำบลบัลลังก์กล่าว

ด้าน นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า ตลอดระยะ 4 ปีของการดำเนินโครงการ “บัลลังก์โมเดล” บริษัทฯ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับสนับสนุน เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้นำแอพพลิเคชั่น มาช่วยในการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวและขนส่งพร้อมส่งเสริมการใช้โดยบวกเงินรับซื้อผลผลิตเพิ่มอีก 10 สตางค์ต่อกิโลกรัมจากการใช้แอพพลิเคชั่นและนำผลผลิตมาขายให้โรงอาหารสัตว์ซีพีเอฟโดยตรง

“การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบย้อนกลับพื้นที่ปลูกของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แม่นยำขึ้น ช่วยสนับสนุน เป้าหมายสูงสุดของโครงการ  พัฒนามาตรฐานการปลูกข้าวโพดของเกษตรกรไทย สร้างรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและวัฏจักรหนี้สิน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ผิดกฎหมายหรือรุกป่า ตามแนวทางการจัดหาที่ยั่งยืนของซีพีเอฟ” นายวรพจน์กล่าว

ด้าน นายพนา ทรงสันเทียะ เกษตรกรชาวตำบลบัลลังก์ ปลูกข้าวโพด 45 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2559 กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการฯ เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่ผลผลิตที่ดีขึ้น  ปรับเวลาการปลูก โดยดูข้อมูลฝนตกในพื้นที่ย้อนหลังไป 10 ปี มีแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกการเก็บเกี่ยว แม้ว่าในปีนี้ ชุมชนจะเจอภัยแล้งและศัตรูพืชหนักกว่าทุกๆ ปี เกษตรกรจะร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปลูกในฤดูกาลหน้าให้ดีขึ้นต่อไป

“บัลลังก์โมเดล” นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการผนึกพลังภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ช่วยยกระดับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยแบบครบวงจรโดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ที่ริเริ่มปี 2557 เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรปลูกข้าว จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เข้ารับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้ว 9,449 คน รวมพื้นที่เพาะปลูก 239,921 ไร่ ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ