HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์ยังโดดเด่น บล.เคจีไอเพิ่มน้ำหนักลงทุน ชอบ 4 ธนาคารใหญ่ หลังเห็น KTB-SCB ขยายพอร์ตการลงทุน ส่วนการลงทุนของ BBL-KBANK ทรงตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสินเชื่อทั้งระบบปีนี้โตไม่ถึง 4% สภาพัฒน์ห่วงคุณภาพเงินกู้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไตรมาส 3 NPLของสินเชื่ออุปโภคบริโภค-รถยนต์-บัตรเครดิต-ที่อยู่อาศัยสูงขึ้น หลังจากคนมีงานทำลดลง ว่างงานเพิ่มขึ้น คลังเสนอครม.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ และชอบ 4 แบงก์ใหญ่ แม้ว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยสินเชื่อยังชะลอตัว ในขณะที่มีสัญญาณของการเริ่มระดมเงินฝากระยะยาว และมี NPL เกิดใหม่ ส่วน KTB ได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐบาลทำให้การปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีสัญญาณที่ดีจากการบริหารรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจจากงบดุลของธนาคารในเดือนต.ค. หลังจากที่ธนาคารต่าง ๆ พากันปรับลดพอร์ตตราสารหนี้ลงในช่วงที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย.แต่บางแห่งกลับมาขยายพอร์ตการลงทุนเพิ่ม 1% จากเดือนส.ค.และเติบโต 16% จากสิ้นปี โดย KTB และ SCB ถือว่า active ที่สุด เพิ่มขึ้นถึง 54% และ 28% ตามลำดับ ส่วนพอร์ตของ BBL และ KBANK ยังทรงตัว
KTB มีการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์เพิ่มขึ้นถึง 83%จากเดือนก.ย.และ 35% จากสิ้นปีที่ผ่านมา จึง active ทั้งในการเพิ่มพอร์ตตราสารหนี้และการปล่อยกู้ในตลาดเงิน คิดว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปล่อยกู้ให้รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปีงบประมาณ
อย่างไรก็ตามในเดือนต.ค.สินเชื่อของ KTB ลดลงมากที่สุด 2% จากเดือนก.ย. SCB ลดลง 1% BBL ลดลง 0.3% ส่วนสินเชื่อทั้งระบบยังคงลดลงเล็กน้อย 1% และ 1.4% %จากสิ้นปี หรือไม่เติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ KBANK, TCAP และ TISCO ยังทรงตัว
ส่วนเงินฝาก มีเพียง KTB เท่านั้นที่เพิ่มฐานเงินฝากขึ้นอีก 5% เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้นในตลาดอินเตอร์แบงก์และการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่แนวโน้มของธนาคารอื่น ๆ ลดลงเล็กน้อย ส่วน KBANK และ TCAP มีการเพิ่มฐานกู้ยืมระยะยาวในสกุลต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/ 2562 ระบุว่า ผู้มีงานทำลดลง 2.1%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงาน เท่ากับ 1.04% หรือมีจำนวน 3.94 แสนคน ทั้งนี้ในเดือนต.ค.อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน ด้านคดีอาญาเพิ่มขึ้น 27.7% เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 32.8%
ส่วนคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/ 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม รวมถึง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ NPL ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ สัดส่วนอยู่ที่ 2.36% ลดลงจาก 2.42%
ทางด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สินเชื่อสุทธิในเดือน ต.ค. ลดลงจากเดือนก่อน 8.77 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางแรงกดดันในแทบทุกธนาคาร โดยเฉพาะจากการชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรัฐบาล อย่างไรก็ดี สินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อไม่มีหลักประกันอื่นๆ ยังขยายตัวสูงตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อบ้านยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แม้จะเป็นอัตราที่ช้าลง ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิ ณ เดือน ต.ค. ชะลอลงมาที่ 11.70 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ชะลอลงจากขยายตัว 3.92% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ด้านเงินฝากในเดือนต.ค.2562 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนกว่า 1.36 แสนล้านบาท ส่งผลให้มียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 4.02% มาที่ 13.006 ล้านล้านบาท นำโดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินฝากเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเงินฝากภาครัฐในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ ตลอดจนเงินฝากประจำพิเศษระยะสั้น
“สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะยังขยายตัวสูงในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี และน่าจะมีภาคธุรกิจบางส่วนทยอยเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่สินเชื่อในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้มาก เศรษฐกิจในปีหน้ายังไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่เด่นชัดนัก คาดว่าความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีในปีนี้ จะขยายตัวในกรอบที่ต่ำกว่าที่คาด รวมสินเชื่อทั้งปี อาจต่ำกว่า 4 % ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้” บทวิเคราะห์ระบุ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ย. พิจารณาชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะมีการจ่ายชดเชยค่าเก็บเกี่ยวให้กับผู้ปลูกข้าว รวมถึงแนวทางการช่วยเหลืออื่น ๆ เพิ่มเติม 2. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระดับพื้นที่ และชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การหักภาษี 1.5 เท่า และ 3. มาตรการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยจะเปิดให้ทุกสถาบันการเงินทั้งสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ให้เข้ามาร่วมปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เชื่อว่าจะมีแรงจูงใจมากพอที่จะกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย
“เป็นมาตรการที่ต่อเนื่องกับชุดกระตุ้นมาตรการกระตุ้นที่ออกไปก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” รมว.คลัง กล่าว