โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
คำถามนึงที่เริ่มมีคนถาม รวมถึงผมเองเวลาว่างๆก็มักจะถามตัวเองด้วยเหมือนกัน ก็คือ เศรษฐกิจไทยตอนนี้กับตอนช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งอันไหนน่ากลัวกว่ากัน ด้วยประสบการณ์ที่ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เราก็ทำงานแล้ว แม้จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ก็เห็นเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนต้องออกจากงาน คนทำธุรกิจหลายคนต้องล้มละลาย เด็กๆหลายๆคนต้องออกจากโรงเรียนโดยเฉพาะคนที่พ่อแม่ส่งไปเรียนเมืองนอก เพราะค่าเงินบาทที่ลดลงทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
หากให้ผมเทียบ วิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนเราเจออุบัติเหตุรถชน อาการหนัก แต่ก็ดีที่รู้ว่าเจ็บตรงไหน จะรักษาอย่างไร แต่ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ผมรู้สึกเหมือนเราเป็นโรคอะไรซักอย่างที่ไม่รู้จะรักษาอย่างไร ได้แต่รักษาตามอาการไปเรื่อยๆ แต่อาการของโรคก็ทรุดลงไปทุกๆวัน ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่และอย่างไร
แม้ตอนนี้อาการยังไม่หนักมากเท่าวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็หนักขึ้นเรื่อยๆทุกๆวัน ดังนั้นหากถามว่าภาวะเศรษฐกิจกับวิกฤติต้มยำกุ้ง อันไหนน่ากลัวกว่ากัน ผมว่า ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้น่ากลัวกว่า เพราะความไม่รู้ว่าอนาคตจะจบอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรนี่แหละ
เพื่อหาคำตอบผมก็ลองค้นหาข้อมูล แนวคิดของกูรูทั้งหลายว่าแต่ละท่านมีแนวคิดในการต่อสู้ในภาวะวิกฤติอย่างไร ก็พบบทความที่ผมเคยอ่านจากวารสาร Boardroom ฉบับที่ 3 ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)เรื่อง “5 สิ่งที่ Warren Buffet ต้องการทำในปี 2554” ซึ่ง Warren Buffet มหาเศรษฐีของโลกได้แบ่งปันมุมมองจากประสบการณ์และความรู้ของเขา แม้จะดูเก่าไปนิด แต่ก็มีคุณค่าและเหมาะสมกับช่วงเวลาตอนนี้เป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขอนำมาเผยแพร่เป็นข้อคิดสำหรับทุกท่านต่อ ดังนี้ ครับ
1.พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทอื่นลดการลงทุนหรือขายสินทรัพย์ บริษัท Berkshire Hathaway ของ Warren Buffet กลับเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับอสังหาริมทรัพย์ เช่นการเข้าไปซื้อบริษัทผู้ผลิตอิฐที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ Alabama หรือสร้างโรงงานใหม่ราคา 50 ล้านเหรียญสหรัฐให้บริษัทลูก John Manville ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายฉนวนกันความร้อนและวัสดุก่อสร้าง และควบรวมบริษัทอีก 5 แห่งเข้าไปไว้บริษัท MiTek 1 ในบริษัทลูกของ Berkshire Hathaway
สิ่งที่ควรจะนำไปใช้
คำว่า ‘วิกฤติ’ ในภาษาจีนออกเสียงว่า เหวย จี อักษรแรกหมายถึงอันตราย อักษรหลังหมายถึงโอกาส ในทุกๆ วิกฤติ มีโอกาส และในทุกๆ โอกาส ก็ย่อมมีวิกฤติเช่นกัน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤติ แต่หลายบริษัทกลับไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง และอาจจะไม่ได้เป็นกิจการที่มีปัญหาเสมอไป ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หลายๆบริษัทในประเทศไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแรงอยู่ ประกอบกับเศรษฐกิจ และภาวะการเมืองของไทยก็อยู่ในระดับที่ดี การเลือกลงทุนในกิจการที่ทำธุรกิจในประเทศ หรือมีฐานตลาดในประเทศ (Domestic play) ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง
2.เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับโอกาสที่จะเข้ามา
บริษัท Berkshire Hathaway มีเงินสดจำนวน 3 หมื่น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าบริษัทมีเงินพร้อมที่จะซื้อหรือลงทุนเพิ่ม ในขณะที่คนอื่นๆ พยายามที่จะลดลงการลงทุน หรือแม้กระทั่งขายกิจการ ยกตัวอย่าง เช่น นาย Buffet สามารถที่จะกระจายเงินลงทุนถึง 1 หมื่น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 25 วันหลังการล้มละลายของบริษัท Lehman Brother ในปี 2551 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่วุ่นวายที่สุดของวิกฤตซับไพร์มในอเมริกา นาย Buffet ไม่เคยลดละความพยายามที่จะแสวงหาโอกาสไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพหรือไม่ก็ตาม
สิ่งที่ควรจะนำไปใช้
จัดเตรียมเงินสดหรือทุนให้พร้อม หรือเตรียมเงินทุนสำรองไว้ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อกระโจนเข้าหาโอกาสลงทุนต่างๆ ในช่วงเวลาที่คนอื่นๆ กำลังทำการตั้งรับ ดังจะเห็นได้จากช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผู้ที่มีเงินสดหรือทุนพร้อม ก็สามารถซื้อทั้งหุ้น หรือ ทองคำ ได้ในต้นทุนที่ถูก หลายๆคนที่ผมรู้จักก็ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวลงทุนใน RMF และ LTF นอกจากได้ต้นทุนที่ถูกแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางภาษีอีกต่างหาก
3.ระมัดระวังการลงทุนโดยใช้ leverage (กู้เงินมาลงทุน) ถ้าจะกู้เงินมาลงทุน ควรระมัดระวังและมีความรอบคอบอย่างมาก
นาย Buffet ถือว่าเป็นคนที่ทำธุรกิจแบบอนุรักษ์นิยม และในจดหมายผู้ถือหุ้นปีนี้ เขาได้ให้ข้อสรุปของทัศนคติของเขาเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้จากการใช้ Leverage ดังต่อไปนี้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งสร้างความร่ำรวยจากการกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจ แต่ว่าวิธีการนี้ก็สามารถทำให้หมดตัวได้เช่นกัน เมื่อมีการทำ Leverage ที่ได้ผล ก็จะทำให้รายได้ของท่านขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ขอเตือนว่าการใช้ Leverage นี้เป็นเหมือนการใช้ยาเสพติด เมื่อสามารถทำกำไรจากความมหัศจรรย์ของเครื่องมือชนิดนี้แล้ว คงจะมีเพียงไม่กี่คนที่จะสามารถถอยหลังกลับไปใช้วิธีการทำธุรกิจแบบอนุรักษ์นิยมหรือแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว และก็เหมือนกับสิ่งที่เราทุกคนเคยเรียนมาตั้งแต่เด็ก และบางคนก็ได้เรียนรู้อีกครั้งหนึ่งในปี 2551 คือ การมีตัวเลขของรายได้เป็นบวกต่อเนื่องกันมา ไม่ว่าจะมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ตาม ก็จะหายไปทันทีที่เอา 0 มาคูณ โดยที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าการใช้ Leverage
นั้นมีหลายครั้งมากที่ทำให้ตัวเลข 0 ปรากฏขึ้น การใช้ Leverage นั้นอาจทำให้บริษัทเจริญเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็สามารถทำให้ล้มละลายได้เช่นกัน ไม่ว่าผู้ใช้ Leverage นั้นจะเป็นคนฉลาดแต่ไหนก็ตาม บริษัทที่มีหนี้ก้อนใหญ่มักจะคิดว่าภาระหนี้ที่มีอยู่จะได้รับการกู้ใหม่เมื่อครบกำหนด การคาดการณ์นี้โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ผิด แต่ในบางครั้งก็จะมีบางกรณีที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาของบริษัทนั้นๆ เอง หรือเพราะว่าการขาดเงินทุนทั่วโลก จนทำให้จำเป็นต้องมีการชำระหนี้เมื่อครบกำหนด และในกรณีนี้มีเพียงเงินสดเท่านั้นที่จะช่วยได้
ผู้กู้จึงเรียนรู้ว่าสินเชื่อก็เหมือนกับออกซิเจน แม้มีการขาดเงินสินเชื่อเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถทำให้บริษัทหยุดการดำเนินการได้ เนื่องจากการขาดสภาพคล่อง ในความเป็นจริงในเดือนกันยายนปี 2551 เมื่อสภาพคล่องหายไปจากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจภายในช่วงข้ามคืน ยังเกือบที่จะทำให้ทั้งประเทศล้มละลาย
สิ่งที่ควรจะนำไปใช้
พวกท่านควรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อย่างน้อยยังต้องคงไว้เป็นบางส่วน เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการของตนเอง อย่าทำลายความเป็นอิสระของตนโดยการเป็นหนี้บุญคุณของเจ้าหนี้ที่จะเข้ามาควบคุมชะตาชีวิตของท่านไว้
ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดจากหลายๆครั้งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หุ้นไทยตกลงมาก เป็นเพราะการถูกบังคับ force sell ของนักลงทุนที่ลงทุนด้วยมาร์จิ้นหรือกู้เงินมาลงทุนนั่นเอง
4.เตรียมบุคลากรที่จะสามารถทำหน้าที่แทนกันได้
ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 ของนาย Buffet ได้มีการเขียนถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยขอให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททุกท่านเสนอชื่อบุคคลที่สามารถจะทำหน้าที่ทดแทนตนเองได้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ตนเองไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ถึงแม้ว่าบริษัท Berkshire Hathaway จะสามารถสรรหาบุคคลเพื่อมาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงได้หลานวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาจากบุคลากรภายในบริษัทเอง หรือใช้บริการบริษัทจัดหาพนักงานที่ดีที่สุดเพื่อสรรหาบุคลากรจากภายนอกในตำแหน่งที่ว่างขึ้นมา แต่นาย Buffet ต้องการที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงแต่ละคนเสนอชื่อบุคคลที่จะมาทำหน้าที่แทนตนเองมากกว่า
สิ่งที่ควรจะนำไปใช้
เตรียมความพร้อมให้กับลูกน้องซึ่งมีตำแหน่งรองจากท่านโดยตรง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่แทนท่านได้ในกรณีที่ท่านป่วยหรือเพื่อให้ท่านมีเวลาทำอย่างอื่นนอกเหนือจากธุรกิจของท่านและสุดท้ายคือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของท่านในกรณีที่ท่านต้องการขายกิจการ
กรณีนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการบริหารความเสี่ยง ในด้านการลงทุนเช่นกัน เราควรจะต้องบริหารความเสี่ยงด้วยเสมอ การกระจายความเสี่ยง หรือที่ฝรั่งชอบพูดว่า “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว” ก็ยังเป็นคำเตือนที่วิเศษในภาวะความไม่แน่นอนสูงอย่างตอนนี้
5.อย่าหยุดทำการขายหรือการตลาด
นาย Warren Buffet ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลก และประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง แต่เขาไม่เคยหยุดทำการขายหรือทำการตลาดเลย การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway ที่เมือง Omaha แทนที่จะจัดการประชุมประจำปีของบริษัทในโรงแรมในแบบเดิมๆ เขากลับจัดการประชุมให้มีบรรยากาศสนุกสนาน แถมยังเชิญผู้ถือหุ้นรายย่อย ให้มาร่วมการประชุมที่ Qwest Center ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถซื้อของที่บริษัทต่างๆ ที่ Berkshire Hathaway เป็นเจ้าของ สองหน้าเต็มของจดหมายประจำปีของนาย Buffet เป็นการขายความคิดให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายไปร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะว่าในที่ประชุมผู้เข้าร่วมสามารถซื้อประกันรถยนต์จาก GEICO หรือซื้อรองเท้าบูทยี่ห้อ Justin หรือขนมจากร้าน See’ s Candy หรือซื้อไอศกรีม Chocolate Xtreme Blizzard เพื่อให้มีความเพลิดเพลินระหว่างที่พวกเขารับฟังการบรรยายของนาย Buffet
สิ่งที่ควรจะนำไปใช้
ไม่ว่าธุรกิจของท่านจะใหญ่โตหรือประสบผลสำเร็จเท่าไร ท่านควรที่จะพร้อมที่จะทำการตลาดและการขายด้วยตนเองเสมอ เพราะนั้นจะทำให้ทุกๆ คนตั้งแต่พนักงานของบริษัทตัวเอง ลูกค้าบริษัท จนถึงผู้ลงทุนในบริษัทเห็นว่าท่านภูมิใจสินค้าที่ท่านขาย
หากมองในประเด็นของการลงทุน ก็คือ “อย่าหยุดที่จะลงทุน” เพราะศัตรูตัวที่สำคัญที่สุดของการเงิน คือ เงินเฟ้อ ที่เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กินเงินของเราไปเรื่อยๆ เมื่อเราไม่ลงทุน เงินออมของเราก็จะด้อยค่าลงเรื่อยๆ (ลองคิดดูง่ายๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณกินข้าวจานละเท่าไร ปัจจุบันคุณกินข้าวจานละเท่าไร สำหรับผมเมื่อตอนเด็กๆ กินบะหมีชามละ 50 สตางค์ ตอนนี้เป็นชามละ 50 บาท เงิน 50 สตางค์ที่มีค่าในสมัยก่อน ตอนนี้ให้ขอทานยังไม่เอาเลย) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องหาความรู้ในการลงทุน ต้องรู้ว่าการลงทุนแต่ละอย่างมีความเสี่ยงอย่างไร อย่าลืมคำเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” จริงๆแล้วอยากขอปรับคำเตือนเป็นว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง การไม่ลงทุนเสี่ยงมากกว่า แต่การลงทุนโดยไม่มีความรู้เสี่ยงที่สุด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล และหาความรู้ก่อนการตัดสินใจลงทุน”