HoonSmart.com>>บริษัทที่ทำธุรกิจไฟฟ้าทยอยประกาศผลกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2562 ออกมาเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่ออกมาโตตามคาด ไม่ได้โดดเด่นเหมือนราคาหุ้นที่วิ่งแรงมานาน โดยเฉพาะหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กระโดดขึ้นมาถึง 30% จากไตรมาส 2 หุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ตีคู่ขึ้นมาเกือบ 21% และราคาหุ้นยังขยับต่อเนื่องในไตรมาส 4 เพราะความคาดหวังผลจากการลงทุนโครงการในอนาคต นักวิเคราะห์ส่งเสียงเตือนหนักขึ้นให้ระวัง “ขึ้นแรง ก็มีโอกาสลงแรง”ได้เช่นกัน
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,086 ล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ลดลง 119 ล้านบาท หรือประมาณ 9.87% จากระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,205 ล้านบาท และลดลง 32.3% จากไตรมาส 2/2562 ที่มีกำไรสุทธิ 1,603 ล้านบาท เพราะเงินบาทที่แข็งค่า เมื่อแปลงหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เกิดกำไรอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจาก 618 ล้านบาทในไตรมาส 2 เหลือเพียง 89 ล้านบาท ซึ่งไม่มีผลต่อกระแสเงินสดแต่อย่างใด
ขณะที่มีรายได้จากการขายและให้บริการเพิ่มขึ้น 16.7% เป็น 8,338 ล้านบาทเทียบกับไตรมาส 2 เพราะรับรู้เต็มๆ จากโรงไฟฟ้า SPP รวม 12 โครงการ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-02 ในเวียดนาม มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาส 2 เป็น 997 ล้านบาท
ส่วน 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาทพุ่งขึ้น 60.88% จากที่มีกำไรสุทธิ 2,475 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
บริษัทยังมีโครงการในอนาคตอยู่ในมืออีกมากมาย เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการโรงไฟฟ้าที่โอมาน 326 เมกะวัตต์ , โครงการมาบตาพุดเฟส 3 ,โรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์รวม 340 MW และโครงการในเวียดนาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้ก้าวกระโดดแตะ 1-1.3 แสนล้านบาทในปี 2567 จากสิ้นปีนี้ คาดว่าจะทำได้ 3.3 หมื่นล้านบาท
ทางด้าน “ปรียนาถ สุนทรวาทะ ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM)กล่าวว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 763 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน รวม 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น 1,922 ล้านบาท เติบโต 10.90% หากไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงและรายจ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1,225 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือใหญ่ 715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 24.3% จากไตรมาสก่อนและถือเป็นระดับที่สูงที่สุด เพราะมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 21% เป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 856 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 11 โครงการ
ไตรมาส 3/2562 บริษัทมีการขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม (DT1&2 และ Phu Yen TTP) และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam Che 1 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD)ในเดือนมิ.ย. ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงของโครงการโรงไฟฟ้า ABP3 ที่ลดลง อัตรากำไร EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.3% จากสัดส่วนรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งให้อัตรากำไร EBITDA ในระดับสูง
ส่วนโครงการในอนาคต BGRIM ตั้งเป้าปี 2565 กำลังผลิตแตะ 5,000 MW ปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การลงนามความร่วมมือกับ PetroVietnam Power Corporation-JSC (รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของเวียดนาม)ศึกษาการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตรวม 3,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการนำเข้าและจำหน่าย LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม กำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ นอกจากนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการใหม่อีกเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) “จอมทรัพย์ โลจายะ” ประธานคณะกรรมการ ให้เหตุผลที่มาของกำไรสุทธิก้าวกระโดด 1,201.90 ล้านบาท รับรู้กำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) กำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์จำนวน 1,289.923 ล้านบาท ส่วนรายได้รวม 1,491.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม COD 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 186.72 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนอีก 3 โครงการ กำลังดำเนินการ ทั้งนี้ SUPER วางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,000 เมกะวัตต์สิ้นปีนี้ และ 2,000 เมกะวัตต์ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 800-900 เมกะวัตต์
บริษัทราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดกำไรอ่อนแอ ทำได้เพียง 1,365 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ถึง 30% โครงการน้ำงึม 2 เป็นปัจจัยกดดันหลัก
“กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 2563 ตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเป้าหมายลงทุน 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ คาดจะใข้เงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในมือ ส่วนใหญ่จะใช้ซื้อและร่วมลงทุน (M&A) โรงไฟฟ้าที่สร้างรายได้ให้ทันที คาดมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาปีละ 700-800 MW เพื่อชดเชยโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ 700 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือน ก.ค.2563
ขณะที่ปีหน้ามีการรับรู้รายได้จาก 4 โครงการใหม่ กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 395.54 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ใน จ.ราชบุรี คาดว่าหน่วยแรกจะพร้อม COD ในเดือน มี.ค.2567 ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 9,341 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 7,057 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 2,284 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าในช่วงปี 2563-2568 ส่วนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุช่วงปี2563-2570 จำนวน 3 โครงการ
ที่สำคัญ RATCH เร่งเพิ่มพอร์ตระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อลดความผันผวนของกำไร โดยใช้วิธีร่วมลงทุนกับพันธมิตรหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้ดิน โครงการน้ำประปาแสนดินในลาว ขณะที่โครงการระบบติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรีนั้น คาดว่าจะลงนามสัญญากับภาครัฐได้ประมาณเดือนก.พ.63
ผลงานของหุ้นไฟฟ้าที่ประกาศออกมาสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุน แต่หากจะซื้อหุ้นราคาสูงในขณะนี้ ต้องแลกกับระดับ P/E สูง และธรรมชาติของธุรกิจ จ่ายเงินปันผลต่ำ เพื่อนำเงินไปหมุนลงทุนในโครงการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง หวังเพิ่มขนาดกำลังการผลิต และกำไรในระยะยาว โดยที่มีหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ราคาต่ำให้พิจารณา โดยเฉพาะในยามโลกสงบ จะเกิดการโยกย้ายเงินทุนออกจากหุ้นที่มีความปลอดภัย อย่างไฟฟ้า ไปหาหุ้นที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องพิจารณาปรับพอร์ตลงทุนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น