BJC อวดกำไร 1.8 พันลบ. โต 5.4% ค่าใช้จ่ายลด

HoonSmart.com>> “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ไตรมาส 3/62 กำไร 1,774 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ค่าใช้จ่ายลด ด้านรายได้ลดเล็กน้อย ส่วน 9 เดือนกำไร 4,805 ล้านบาท

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,774.06 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.44 บาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,683.15 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.42 บาท

ส่วนงวด 9 เดือนปี 2562 กำไรสุทธิ 4,805.67 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.20 บาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,524.17 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.13 บาท

ในงวดไตรมาส 3/2562 บริษัทฯ มีกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากยอดขายที่เติบโตขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้รวมมีจำนวน 42,722 ล้านบาท ลดลง 24 ล้านบาท หรือ -0.1% จากงวดปีก่อน โดยรายได้รวมลดลงจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่ลดลงจากกลุ่มธุรกิจรวม เท่ากับ 38,620 ล้านบาท ลดลง 203 ล้านบาท หรือ -0.5% จากงวดปีก่อน โดยมาจากการลดลงของยอดขายกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ขณะที่รายได้อื่นจำนวน 4,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147 ล้านบาท หรือ 3.7% จากงวดปีก่อน การเติบโตของรายได้มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นของกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ด้านค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 40,473 ล้านบาท ลดลง 240 ล้านบาท หรือ -0.6% จากงวดปีก่อน เนื่องจากต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการลดลงไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่ลดลง รวมทั้งต้นทุนในการขายและบริหารที่ลดลงจากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค, การกลับรายการสำรองภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และต้นทุนที่ลดลงตามยอดขายที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองกำไรไตรมาส 3/2562 ออกมาใกล้เคียงคาดการณ์ คาดแนวโน้มไตรมาส 4/2562 เติบโต เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นเข้าสู่ช่วงเทศกาลทำให้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งบิ๊กซีได้ผลบวกเล็กน้อยจากโครงการชิมช้อปใช้ คาดรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นเช่นกันจากผลของฤดูกาลและคาดจะผลินสินค้าให้ลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น

“ยังคงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 64 บาท ผลประกอบการปี 2563 คาดว่าจะเติบโตได้จากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจกระป๋องฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากได้ลูกค้าใหม่และโรงงานมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรฟื้นตัว ขณะที่บิ๊กซียงมีการขยายสาขา เน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำรสูงมากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน”บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุ