HoonSmart.com>>ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส พร้อมปล่อยสินเชื่อวงเงิน 500-1,000 ล้านบาทให้ตัวแทน ขยายฐานลูกค้า เร่งขยายจุดติดตั้งตู้อัจฉริยะต่างๆ ทั้งตู้ขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือและบริการพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มและสินค้าอัตโนมัติเพิ่ม ผลักดันผลงานให้ได้ตามแผน ส่วนงบการเงินไตรมาส 3 มีรายได้รวม 780.2 ล้านบาท และกำไร 143.8 ล้านบาท
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทย่อย เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 500-1,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 12 เดือน ให้กับกลุ่มตัวแทนตู้บุญเติม พนักงานของกลุ่มตัวแทนฯ และพนักงานของบริษัทในเครือ นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งสินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการดำเนินงานในธุรกิจหลักในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯจะเพิ่มบริการใหม่ๆ บนตู้บุญเติมและการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้า ทั้งการเพิ่มบริการรับฝากเงินสด/โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 2 ราย จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน รวมถึงเพิ่มบริการใหม่ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขายสลากออมทรัพย์ การขายประกันอุบัติเหตุ และอื่นๆ
ขณะเดียวกัน จะขยายจุดติดตั้งตู้อัจฉริยะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งตู้ขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือและบริการพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) ของผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ มีเป้าหมายรวมกว่า 1,200 ตู้ ภายในสิ้นปี 2562 เช่นเดียวกับการขยายธุรกิจตู้จำหน่ายเครื่องดื่มและสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เป้าหมายติดตั้งตู้ให้ได้ 4,000 ตู้ภายในสิ้นปี 2562 ส่วนตู้อัจฉริยะบุญเติมรูปแบบอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า/สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2563
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 780.2 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 เนื่องจากผลของฤดูกาล การส่งเสริมการตลาดของผู้ให้บริการมือถือแบบรายเดือน (Post-paid) และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) จำนวนตู้คู่แข่งที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีการควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้กำไรในไตรมาสนี้เท่ากับ 143.8 ล้านบาท ลดลงเพียง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
“ปีนี้เป็นปีที่เรามุ่งเน้นการรักษาอัตราการเติบโตของธุรกิจหลัก และเริ่มต่อยอดธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัทฯ และสร้างโอกาสเติบโตและผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยทุกการบริการยังคงยึดหลักการให้ “บุญเติม” เป็นผู้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า ด้วยทำเลที่ครอบคุลม บริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างครบถ้วน” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว