ธปท.ใช้ยาแรงกดเงินบาทอ่อน หุ้นส่งออกฟื้น แนะ 7 หุ้นได้ดีลด ดบ. 

HoonSmart.com>>ส่งออกเริ่มยิ้มออก ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์เอื้อให้เงินทุนไหลออก 4 ช่องทาง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด เห็นผลเงินบาทอ่อนลงทันที ส่วนหุ้นผันผวนจากบวกปิดติดลบ 2 จุด  ตามแรงขายหุ้นแบงก์ใหญ่ มีแรงซื้อหุ้นส่งออก เน้นอิเล็กทรอนิกส์

บ่ายวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนไทยผันผวน หลังจากกนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ตามตลาดคาดการณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว มาอยู่ที่บริเวณ 30.40 บาท/ดอลลาร์ และดัชนีหุ้นจากบวก 4 จุดพลิกลงมาติดลบ ปิดที่ 1,623.99 จุด ลดลง 2.88 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 62,181 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อ 659 ล้านบาท สถาบันกลับมาขาย 880 ล้านบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย และลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พ.ย. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ โดยอนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินนั้น  ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์  และปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น
เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ได้หารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าว จะครอบคลุมประมาณ 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

 

2. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

3.  เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท. อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ
ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

4. การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

ด้านตลาดหุ้นไทย เกิดแรงขายหุ้นธนาคารใหญ่ โดยบล.เอเซียพลัส ระบุว่าการลดดอกเบี้ย เชื่อว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อค่าเงินบาทให้ชะลอการแข็งค่า ขณะที่เป็นปัจจจัยลบต่อหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะทำให้แบงก์ต้องปรับลดลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและ NIM โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ เช่น BBL, KTB, KBANK,

ส่วนหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง แต่ต้องเลือกลงทุน ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ Switch ยกเว้น MTC ที่ เตรียมปรับไปใช้มูลค่าเหมาะสม ปี 2563 ที่ 71 บาท  เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง ส่วนแบงก์ขนาดเล็ก มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นดอกเบี้ยคงที่สูง แต่เงินฝากบางส่วนเป็นดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM เช่น TCAP ราคาเหมาะสม 63 บาทและ KKP ราคาเหมาะสม 79.5 บาท  รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  และหุ้นปันผลสูง