บลจ.บัวหลวง IPO กองทุน ‘B-IR-FOFRMF’ รับเกษียณ-ลดภาษี

HoonSmart.com>> บลจ.บัวหลวง เสนอขาย IPO กองทุนเปิด “ฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ” ครั้งแรก 5-11 พ.ย. นี้ ชูจุดเด่นรับประโยชน์ 2 ต่อ เป็นทางเลือกสร้างสมดุลพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณ ด้วยการลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ แต่มีความผันผวนไม่เหมือนกับหุ้น พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต การจัดสรรเงินลงทุนระยะยาวเพื่อเกษียณอายุ ผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น อาจไม่เพียงพอ กองทุนบัวหลวงจึงเปิดตัว กองทุนเปิดฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน&อสังหาริมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-IR-FOFRMF) เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 5 – 11 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน จัดสรรและสร้างสมดุลเงินลงทุนสำหรับเป้าหมายการเกษียณได้ดียิ่งขึ้น

“กองทุนบัวหลวง มีกองทุน RMF เป็นทางเลือกให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณไป พร้อมใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปีอยู่แล้วในกลุ่มที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนผสม และทองคำ หลังจากเปิดตัว B-IR-FOFRMF จะทำให้ลูกค้ามีกองทุน RMF ให้เลือกอย่างครบเครื่องมากขึ้น โดย B-IR-FOFRMF ลงทุนผ่านหน่วยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ แต่มีความผันผวนไม่เหมือนกับหุ้น หากมีการจัดสรรเงินมาลงทุนไว้ ก็จะทำให้พอร์ตลงทุนที่เตรียมไว้ยามเกษียณ มีความสมดุลและสามารถรับมือสถานการณ์ที่มีความผันผวนได้ดีขึ้น ทำให้มีโอกาสไปถึงเป้าหมายยามเกษียณได้มากขึ้น” นายวศิน กล่าว

สำหรับ B-IR-FOFRMF เป็นกองทุนที่ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหลายกองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ที่เน้นลงทุนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสินทรัพย์กลุ่มนี้สร้างรายได้สม่ำเสมอจากค่าเช่า แล้วให้ผลตอบแทนเข้ามายังกองทุน ซึ่งผลตอบแทนนั้นก็ถูกนำกลับไปลงทุนเพื่อหาประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับกองทุนต่อไป

ทั้งนี้ การลงทุนใน RMF ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้พึงประเมินในแต่ละปี หรือขั้นต่ำ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่ากัน) และลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อนับรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท โดยต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีลงทุน (ห้ามระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันทั้งที่ยังมีเงินได้)

นอกจากนี้ ต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีบริบูรณ์ นับจากวันที่ซื้อครั้งแรกและต้องถือหน่วยลงทุน จนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain)