ข่าวดีท่วมตลาด ดัชนีพุ่ง 30 จุด เลือกช้อปปิโตรฯ อิเล็กทรอนิกส์ยังเสี่ยง

HoonSmart.com>>หุ้นไทยพุ่งแรงแซงภูมิภาค สถาบันไล่ซื้อกว่า 4,000 ล้านบาท ข่าวดีเข้ามารอบทิศทั้งนอกและในประเทศ สหรัฐ-จีนนัดเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรก โลกสดใส แรงซื้อทะลักเข้าพลังงาน โรงกลั่น ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์  PTTGC-IVL น่าสน  หุ้นไฟฟ้า GULF-BGRIM ร้อนแรง คว้าโรงไฟฟ้าเวียดนาม 9,000 MW ส่วน JAS ฟื้นจากฟลอร์ ท่องเที่ยวจีนกลับมา AOT ขยับ ล่าสุด PTTEP แจ้งซื้อหุ้น Partex เสร็จ เพิ่มปริมาณขาย 16,000 บาร์เรล

ตลาดหุ้นวันที่ 4 พ.ย. 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งแรงเกินคาดทะลุ 30 จุด ก่อนปิดที่ระดับ 1,622.25 จุด เพิ่มขึ้น 29.73 จุด คิดเป็น 1.87% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 64,499 ล้านบาท แรงซื้อหนักๆมาจากสถาบันในประเทศ 4,636 ล้านบาท รับเต็มๆ รายย่อยทำกำไร 4,460 ล้านบาท ส่วนต่างชาติขายเล็กน้อย 345 ล้านบาท แต่ซื้อจำนวน 16,820 สัญญาในตลาดอนุพันธ์

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงกว่าตลาดภูมิภาคที่มีบวกและลบคละกัน จากปัจจัยบวก ดัชนี PMI ของจีนและสหรัฐดีเกินคาด สหรัฐฯ กับจีนนัดลงนามข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกภายในเดือนพ.ย. ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมาก รวมถึงหุ้นไฟฟ้า หลังจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์(MW) ร่วมกับสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดกำลังการผลิตประมาณ 6 ล้านตันต่อปี ในจังหวัดนิ่งห์ถ่วน ประเทศเวียดนาม บริษัท บี.กริม.เพาเวอร์ (BGRIM) และ Petrovietnam Power ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาและพัฒนาสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 3,000 เมกะวัตต์ และหุ้นบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) ที่ดิ่งฟลอร์ 30% เมื่อวันก่อน ฟื้นตัวขึ้นมาปิดที่ 4.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.52 บาทหรือ 11.87%

นักวิเคราะห์บล.กสิกรไทยเปิดเผยว่า ความคาดหวังการลงนามข้อตกลงทางการค้าระหวา่งสหรัฐและจีนเฟสแรก ทำให้กระแสเงินไหลเข้ากลุ่ม Global play โดดเด่น แนะนำกลุ่มพลังงาน โรงกลั่น ปิโตรเคมีที่ราคายังไม่แพง ได้แก่ PTTGC ,IVL เพื่อเกาะกระแสเงินที่กลับเข้ามาซื้อเพิ่มจากสถานการณ์โลกที่ผ่อนคลาย รวมถึงกลุ่มที่มีปัจจัยหนุน และกำไรครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโต

นาย ชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า การเจรจาทางการค้าสหรัฐฯ กับจีนบรรลุข้อตกลงขั้นพื้นฐานแล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานเกือบ 16 เดือน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้น หุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีฟื้นตัวตาม แต่คาดว่าหุ้นกลุ่มนี้ยังคงผันผวนตามสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นผลจากสงครามการค้าเช่นกัน แต่ยังไม่แนะนำให้ซื้อ สำหรับนักลงทุนที่ถืออยู่ควรขาย เพราะราคาอาจจะยังผันผวนอยู่ จากกรณีสหรัฐเก็บภาษี GSP สินค้าไทย

“หุ้นพลังงานและปิโตรเคมี นักลงทุนสามารถซื้อได้ ส่วนที่ถืออยู่สามารถถือต่อได้ ดาวเด่น ยกให้หุ้นบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ.( PTTEP) คาดมูลค่าเหมาะสมอยู่ที่ 170 บาท เพิ่มขึ้น 38.78%จากปัจจุบัน จากกำไรไตรมาส 3/62 รวม 1.1 หมื่นล้านบาท คาดไตรมาส 4 ฟื้นตัวดีขึ้นตามปริมาณการขาย “นายชาญชัยกล่าว

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท Partex Holding B.V. จากมูลนิธิ Calouste Gulbenkian Foundation เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2562 ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่านโยบายภาษีการค้าสหรัฐฯ-จีน ใกล้สุดทาง ตลาดน่าจะเริ่มให้น้ำหนักต่อนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางโลกมากขึ้น  แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กดดันภาคการส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลงต่อเนื่อง แต่ความต้องการภายในประเทศยังคงเติบโตดี 4 ไตรมาสติดต่อกัน หนุนผลประกอบการหุ้นในประเทศยังเติบโตกระจายตัวดีขึ้น คาดดัชนีมีกรอบซื้อเชิงพื้นฐานที่ 1,640-1,600 จุด

กลยุทธ์ไตรมาส 4 แนะนำเพิ่มน้ำหนัdการลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว , กลุ่มอาหาร , กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มปันผลสูง, กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ-จากค่าเงินบาทแข็ง และหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีผลประกอบการฟื้นตัวเด่น แนะนำ CPF, GFPT, AOT, ERW, AMATA, WHA, ADVANC, JMART, ICHI

บล.ทรีนีตี้ คาดว่า ในเดือนพ.ย. ดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,540 – 1,650 จุดมีแรงซื้อของสถาบันในประเทศประคับประคองตลาดต่อไป ส่วนหนึ่งประเมินว่าเป็นเม็ดเงิน LTF ที่รออยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจัยจำกัดที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมกนง. วันที่ 6 พ.ย. ให้โอกาสราว 60% ที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.25%  ธีมการลงทุนเด่น ยังคงโฟกัสกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย หุ้นปันผลสูง เช่น กลุ่มสื่อสาร  ADVANC, INTUCH  รวมไปถึงกองทุน REIT และ IFF ในทางกลับกันเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มธนาคารที่ยังคงโดนกดดันจาก NIM ที่อ่อนแอ