HoonSmart.com>> กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค.ขยายตัวเพียง 0.1% ชี้ชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน ถูกจำกัดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 102.74 ขยายตัว 0.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบรายเดือนหดตัว 0.16% (mom) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.74% โดย CPI ชะลอตัวมากสุดในรอบ 28 เดือน จากผลราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 102.74 ขยายตัว 0.44% (yoy) และเมื่อเทียบรายเดือนขยายตัว 0.04% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 10 เดือนของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 0.53%
ด้านสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของราคาน้ำมันดิบ และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ ทั้งนี้ ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.91 ขยายตัว 2.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบรายเดือนหดตัว -0.10% (mom) ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.53 หดตัว -1.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบรายเดือนหดตัว -0.18% (mom)
สำหรับการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง โดยดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนตุลาคมลดลง 2.5%(yoy) จากที่ลดลง 1.9% ในเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลงถึง 3.10%(yoy) จากที่ลดลง 2.8%(yoy) ในดือนก่อน
เมื่อเทียบรายปี พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น 2.22% เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(8.8%yoy) ขณะที่หมวดสินค้าที่มีสัดส่วนในตะกร้า CPI สูงเช่นหมวดอาหารบริโภคทั้งในและนอกบ้าน (มีสัดส่วนน้ำหนักรวมกันประมาณร้อยละ 17.32 ของตะกร้า CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.58% และ 0.28% ตามลำดับ
สำหรับหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.39% โดยการเพิ่มขึ้นของน้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลตเป็นผลจากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14% จาก 50 สตางค์ต่อลิตร ในปี 2560 เพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร โดยมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขณะที่ในส่วนของหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.09% เป็นการลดลงตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เป็นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกที่ลดลง 11.57% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 43 เดือน
เมื่อเทียบรายเดือน พบว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการลดลงทั้งจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยลดลง 0.16%(mom) และ 0.18%(mom) ตามลำดับ
สำหรับปี 2562 นี้ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ยังคงมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ในส่วนของปัจจัยด้านต้นทุนและผลผลิตยังเป็นตัวแปรที่ทำให้เงินเฟ้ออาจผันผวนหรือปรับลดลงได้
จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความผันผวนของตลาดการเงินอันเป็นผลมาจากสงครามการค้า, การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) รวมทั้งจากการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Funds Rate ลง แม้ส่งสัญญาณพักวงจรปรับลดดอกเบี้ย ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก อย่างไรก็ดี ต้องรอตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่จะประกาศในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ด้วย