R&I ญี่ปุ่นเพิ่มเครดิตไทยดีขึ้นจาก BBB+ เป็น A-

HoonSmart.com>> สบน. เผยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ R&I จากญี่ปุ่น ปรับเครดิตไทยดีขึ้นจาก BBB+ เป็น A- พร้อมคงมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับเสถียรภาพ หลังเดินหน้ามาตรการเชิงรุกพัฒนาอุตสาหกรรม EEC ฐานะการคลังแกร่ง เกินดุลการค้า การเมืองมีเสภียรภาพ ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ชี้เป็นจิตวิทยาบวกต่อการลงทุนไทย คาดมูดี้ส์-เอสแอนด์พี ปรับขึ้นต่อ แนะหุ้นได้ประโยชน์ กลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Issuer CreditRating) จากระดับ BBB+ เป็น A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ระดับเสถียรภาพ (StableOutlook)

สำหรับเหตุผลที่ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือว่ามาจากปัจจัยหลัก 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งมีการดำเนินการในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)

2. การเกินดุลการค้าและดุลบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักจากรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น ประเด็นเรื่องสภาพคล่องในสกุลเงินตราต่างประเทศจึงไม่น่ากังวล

3. การมีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง ทำให้การบริหารจัดการด้านการคลังมีประสิทธิภาพและมีรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยมีการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้น จึงไม่มีความน่ากังวลทั้งในประเด็นด้านความสามารถในการระดมทุนและความเสี่ยงทางการคลัง

4. ด้านการเมืองของประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและสามารถดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยR&I ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมือง โครงสร้างของการกระจายรายได้ระหว่างเขตเมืองและชนบท รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางการเมืองอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ R&I ได้ทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมาโดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะพิจารณาจากองค์ประกอบ 5 ด้าน อันได้แก่ ภาวะทางการคลัง (Fiscal conditions) โครงสร้างการระดมทุน (Funding structure) ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic fundamentals) ปัจจัยพื้นฐานทางสังคมและการเมือง (Socio-political fundamentals) และความสามารถในการบริหารจัดการนโยบาย (Policy management capacity)

“ในปี 2562 ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา Moody’s และ Fitch Rating ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ให้กับประเทศไทย จากระดับ “เสถียรภาพ (Stable Outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive Outlook)” ซึ่งการได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังจะช่วยให้การระดมทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลและเอกชนไทยมีต้นทุนที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”นางแพตริเซีย กล่าว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน (CNS) เปิดเผยว่า R&I (Rating and Investment) สถาบันจัดอันดับเครดิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือไทยเป็น A- จากเดิม BBB + เป็นจิตวิทยาบวกต่อการลงทุนไทย และคาดว่าจะเห็นการปรับเพิ่ม CREDIT ของ Moody & S&P Credit ในช่วงถัดไป

สำหรับกลยุทธ์ หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Credit Rating Upgrade ได้แก่ 1) ธนาคาร BBL, SCB, KBANK เด่น และ 2) กลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศเยอะ CPF, TU, THAI และหุ้นกลุ่ม PTT

บล.เอเซียพลัส เชื่อว่าการปรับอันดับ Credit rating ของ R&I น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวก และน่าจะเพิ่มคาดคาดหวังสถาบันจัดอันดับสำคัญ อาทิ Moody, S&P และ Fitch พิจาณาปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี

“ผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยให้การระดมทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศของรัฐบาลและเอกชนไทยให้มีต้นทุนถูกลง”บล.เอเซีย พลัส ระบุ