ปตท.แจงกำไรมาร์จิ้นแค่ 6% ราคาน้ำมันเหมาะสม 60 ดอลล์

“เทวินทร์” เปิดสูตรกำหนดราคาขายปลีกน้ำมัน ยืนยันกำไรของปตท.ไม่สูงเกินไปประมาณ 6% ของยอดขายและมูลค่าสินทรัพย์ ลั่นราคาน้ำมันที่เหมาะสม อยู่ที่ 60 ดอลลาร์ ส่วนเกินเกิดจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และการเก็งกำไร

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) เปิดเวทีย่อยๆ หลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับธนาคาร 9 แห่งเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดราคาน้ำมันขายปลีก ว่ามีหลายองค์ประกอบ ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าถึง 80% โรงกลั่น ภาษี ค่าการตลาด และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดูไบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์ ส่งผลราคาน้ำมันในประเทศ 24 สตางค์/ลิตร

“ปตท.มีวิธีบริหารจัดการ จะดูแนวโน้มราคาน้ำมันมากกว่า ไม่ได้ปรับตามราคาขึ้นลงทุกวัน เช่นสัปดาห์ที่แล้วน้ำมันขึ้นลงทุกวัน แต่สุทธิแล้วเป็นศูนย์ ปตท.ก็ไม่ได้ปรับราคา ส่วนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบเริ่มลดลง 1.30 ดอลลาร์/บาร์เรล คิดเป็น 30 สตางค์/ลิตร แต่ ปตท. ตัดสินใจปรับลง 50 สตางค์ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปั๊มน้ำมันหลายแห่งก็ปรับตามลงมา”นายเทวินทร์กล่าว

ในการกำหนดราคาขายปลีก สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือกลไกตลาดโลก ภาษี และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ขณะที่ ค่าการกลั่น ค่าการตลาด จะมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมระหว่างผลตอบแทนกับราคาขายปลีก แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด เพราะปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นเพียง 3 โรง จาก 6 โรงใหญ่ในประเทศ และค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยอมรับด้านประสิทธิภาพ ปัจจุบันค่าการกลั่นอยู่ที่ 1 บาทกว่าไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร ซึ่งดีเซลจะต่ำกว่าอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ต้องการให้ดีเซลสูงมากเกินไป

ทั้งนี้ ค่าการตลาดสามารถบริหารได้ ปรับขึ้นลงได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้มาก เพื่อสะท้อนต้นทุนที่จะนำไปใช้ลงทุนขยายสาขา การบริหารจัดการต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนแบ่งระหว่าง ปตท. ผู้ค้า และผู้ลงทุนสร้างปั๊ม โดยปกติ เวลาที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าการตลาดจะปรับลดลงอยู่แล้วเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค

ส่วนเรื่องราคาน้ำมัน ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(6 เม.ย. -28 พ.ค. 2561) ปรับขึ้นมามาก 20% เกินความคาดหมาย จนมาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงกว่าที่ประมาณการเฉลี่ย 55 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อต้นปีและ ปตท. คงปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันเป็น 60-65 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาน้ำมันที่เหมาะสมอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นแรง เกิดจากการเก็งกำไรของกองทุน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ปริมาณการผลิตออกมาไม่มากขึ้น ส่วนการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน(เชลออยล์)ของสหรัฐ ก็มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ท่อส่งเต็ม แนวโน้มปัญหาการเมืองระหว่างประเทศคาดการณ์ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นายเทวินทร์ยืนยันว่า ราคาน้ำมันของปตท.ไม่ได้แพงกว่าปั๊มอื่น ในปี 2560 ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ในเวลา 365 วัน ไม่มีวันใดที่ปตท.ขายน้ำมันสูงกว่ารายอื่น ปตท. มีการปรับขึ้น 21 ครั้ง ปรับลง 21 ครั้ง แต่ราคาหน้าปั๊มขายต่ำกว่าต่างชาติ 20 วัน แม้แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. -28 พ.ค. 2561 ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น 20% ปตท.ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้ง ปรับลง 1 ครั้ง ซึ่งทั้ง 7 ครั้งไม่เคยขายแพงกว่าปั๊มอื่นเลย แต่มีอยู่ 9 วันในช่วง 50 วันที่ขายต่ำกว่าปั๊มอื่น เนื่องจากปตท.พยายามดูแลการขึ้นให้ช้าแต่จะปรับลงทันที

นอกจากนั้นนายเทวินทร์ได้ชี้แจง เรื่องตัวเลขกำไรสุทธิ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2560 ว่า ดูแค่ตัวเลขเหมือนจะสูง แต่ธุรกิจพลังงานต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องใช้เงินสำหรับการใช้จ่ายสูงมากเช่นกัน ปัจจุบันกำไรจากธุรกิจน้ำมัน ขายไก่ ขายกาแฟมีสัดส่วนเพียง 10% ของกลุ่ม หากเทียบกำไรกับสินทรัพย์ของปตท.และบริษัทในเครือที่ปตท.ลงทุน มูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านบาทแล้ว อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์(ROA)มีสัดส่วนเพียง 6% และเมื่อเทียบกับยอดขายที่เกือบ 2 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 6.7% หากเปรียบเทียบกับบริษัทชั้นนำแล้วถือว่าต่ำ โดยกำไรส่วนใหญ่เป็นส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการอื่น นอกจากนั้น ปตท.ก็ต้องบริหารจัดการและลงทุนต่อเนื่องอีกจำนวนมาก เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งคืนกำไรแก่สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมจ่ายเงินปันผล และจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐด้วย ขณะที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่มีเรื่องภาษี

นายเทวินทร์ ยังกล่าวต่อว่า ข้อความเท็จในโลกโซเชียลกระทบกับยอดขายหรือไม่คงตอบได้ยาก แต่การชี้แจงวันนี้อยากให้สังคมเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง และยืนยันว่าอยู่ระหว่างดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ใส่ข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ ต้องการให้มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ ใครตั้งใจทำผิดก็ต้องมีบทลงโทษ ส่วนผู้ที่แชร์ข้อมูลโดยไม่ตั้งใจก็คงไม่เอาความ แต่ต้องการให้สังคมไทยมีวินัยเรื่องการโพสต์และแชร์ข้อมูลที่รับผิดชอบ