นักวิเคราะห์คาดกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นช่วงสั้นๆ จากเทคนิเคิลรีบาวด์ นักลงทุนโยกเงินออกจากพลังงาน ราคาลงไปเยอะ ‘ฟินันเซียไซรัส’ แนะ KBANK – BBL ส่วนเอเซียพลัสคาดดอกเบี้ยขึ้นปลายปีนี้
ตลาดหุ้นวันที่ 28 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นเกือบยกแผง ส่งผลให้ดัชนีกลุ่มแบงก์ ปิดที่ 523.91 จุด บวก 5.51 จุด คิดเป็น 1.06% สวนทางกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลดลง 6.67 จุด ปิดที่ 1,734.54 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,878 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์คาดว่ากลุ่มแบงก์ถูกเลือกขึ้นมาเก็งกำไรช่วงสั้นๆแทนกลุ่มพลังงานเท่านั้น
น.ส.จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า หุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวขึ้น มาจาก 3 ปัจจัยคือ 1 นักลงทุนรายใหญ่และกองทุน โยกเงินเข้ามาซื้อหุ้นแบงก์หลังจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเริ่มเต็มมูลค่า 2 ดัชนีกลุ่มปรับขึ้นทางเทคนิค(เทคนิเคิลรีบาวด์) และ 3 ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ลดลงมา 10% มากกว่าการปรับลดประมาณการกำไรเดิมของปีนี้ที่ 5- 6 % หลังยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง ทำให้หุ้นธนาคาร น่าสนใจมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มหุ้นกลุ่มแบงก์ น.ส.จิตรา กล่าวว่า ยังสามารถไปต่อได้หลังจากเพิ่งปรับขึ้นมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจาก 3 ปัจจัยเหล่านั้น รวมถึงที่ผ่านมา แบงก์จะซื้อขายที่สัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี(พี/บีวี) 1.5 เท่า แต่ขณะนี้ซื้อขายที่พี/บีวี 1.1 เท่า และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE) เฉลี่ย 11.60% เทียบกับที่ผ่านมา ซื้อขายที่ 14-15%
“ถ้าให้แนะนำซื้อ เราเลือกหุ้นธนาคารกสิกรไทย(KBANK) และธนาคารกรุงเทพ(BBL)” นางจิตรากล่าว
ขณะที่บล.เอเซียพลัส คาดคณะกรรมการนโยบายการเงินจะต้องทบทวนการใช้นโยบายการเงินอ่อนตัว จึงน่าจะมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/2561 เนื่องจากราคาน้ำมันปรับขึ้นมาเกิน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่าในขณะนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.มีแนวโน้มขึ้นไปแตะบริเวณ 1% จาก 1.07% เมื่อเดือนเม.ย.และน่าจะค่อยๆไต่ขึ้นจนถึงราว 2% ในเดือนก.ย.นี้
บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คงน้ำหนักลงทุนกลุ่มแบงก์ “ลงทุนปกติ” เลือก BBL เป็น Top pick จากความเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อรายใหญ่ที่คาดว่าจะเป็นสินเชื่อหลักที่เติบโตในปีนี้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารในไตรมาส 2 น่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากหดตัว 0.51% ในไตรมาส 1 ซึ่งจะมาจากการขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ ตามการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ 6-7%
นอกจากนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะกลับไปรุกธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกครั้ง หลังจากที่เคยมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพหนี้