HoonSmart.com>>สหรัฐตัด GSP กดดันหุ้นรายตัวต่อเป็นวันที่สอง TU-ASIAN กอดคอกันร่วง สวนทางบริษัทยันไม่กระทบ ส่วน CPF ดีดกลับ 30 สตางค์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เจ็บหนัก เดลต้าฯเปิดกำไรไตรมาส 3 แย่มาก ซ้ำเติมความมั่นใจนักลงทุน ผสมแรงขายหุ้นไฟฟ้า-แบงก์ กดดัชนีติดลบ 5 จุด ต่างชาติขาย 1,473 ล้านบาท
การซื้อขายหุ้นวันที่ 29 ต.ค. 2562 กรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยจำนวน 573 รายการยังส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องในวันที่สอง โดยกลุ่มอาหาร TU ปรับตัวลง 0.20 บาทหรือ 1.48% ปิดที่ 13.30 บาท แม้ว่าบริษัทชี้แจงว่าไม่ได้รับผลกระทบก็ตาม และ ASIAN ทรุดลงแรงถึง 4.68 บาท และฟื้นมาปิดที่ 4.82 บาท ลดลง 0.16 บาทหรือ3.21% แต่บางตัวก็เริ่มดีดกลับ เช่น CPF ปรับตัวขึ้นไปถึง 25.50 บาทก่อนปิดที่ 24.80 บาท บวก 0.30 บาท หลังจากบริษัทชี้แจงว่ากลุ่มจะถูกตัด GSP มีเพียงบะหมี่เกี๊ยวกุ้งที่มียอดขายประมาณ 0.2% ของยอดขายรวมที่จะต้องเสียภาษีในอัตราประมาณ 6% เท่านั้น
ในส่วนบริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) นายเฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ชี้แจงว่า สินค้าหลักๆ ที่ถูกตัด GSP คือ สินค้าอาหารทะเล พาสต้า ถั่วน้ำผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว เหล็กแผ่น ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 นั้น ซึ่งจากการตรวจสอบโดยการเช็คพิกัดส่งออก พบว่ายังไม่มีผลกระทบกับบริษัท กลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่า และอาหารแช่เยือกแข็งที่ ASIAN ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ อยู่ในพิกัดที่ไม่ถูกตัดสิทธิ GSP ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
สำหรับหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เพราะตลาดใหญ่คือสหรัฐอเมริกา ราคายังคงปักหัวลงแรงเป็นวันที่ 2 เพราะมีข่าวเรื่องกำไรจะออกมาแย่ซ้ำเติม หลังจาก DELTA เปิดผลงานไตรมาส 3/62 เหลือกำไรสุทธิเพียง 618 ล้านบาท ทรุดลง 63% จากที่มีกำไรสุทธิ 1,680 ล้านบาท และรวม 9 เดือนกำไรสุทธิรูดลง 37% เหลือจำนวน 2,577 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามากและสงครามการค้า ทำให้ราคาหุ้น DELTA ดิ่งลงแรงถึง 9.57% หรือ 4.50 บาท ปิดที่ 42.50 บาท ส่งผลต่อเนื่องถึงหุ้น HANA ไหลลง 4.95% หรือ 1.25 บาทปิดที่ 24 บาท KCE ติดลบ 2.17% หรือ 0.30 บาทปิดที่ 13.50 บาท และ SVI ลดลง 1.30%หรือ 0.60 บาท ปิดที่ 4.56 บาท
ส่วนภาพรวมตลาด ดัชนีพยายามยืนในแดนบวก แต่ต้านแรงขายไม่ไหว โดยเฉพาะตัวใหญ่ในหุ้นไฟฟ้าและธนาคาร นำโดย KBANK ร่วง 3.68% หรือ 5 บาทปิดที่ 131 บาท กดดัชนีปิดที่ 1,591.21 จุด ติดลบ 5.27 จุด หรือ 0.33% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 57,421 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายอีกครั้ง 1,473 ล้านบาท สถาบันซื้อต่อเนื่อง 1,339 ล้านบาท แนวโน้มตลาดยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ นักลงทุนควรจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน