HoonSmart.com>>หุ้นดิ่งแรงตามคาดกว่า 14 จุด ก่อนดีดกลับบวก 3 จุด กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงสินค้าไทยถูกตัด GSP ต้องกลับมาจ่ายภาษีในอัตราปกติเฉลี่ย 4.5% คิดเป็นประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท ไม่ใช่ 4 หมื่นล้านบาทที่เคยใช้สิทธิประโยชน์ GSP ทั้งหมด และยังมีเวลาเจรจา 6 เดือน CPF ยันมีเพียงบะหมี่เกี๊ยวกุ้งที่มียอดขาย 0.2% ต้องเสียภาษีประมาณ 6% ลั่นปีนี้ผลงานโตเข้าเป้าหมาย ส่วน RBF แจงส่งออกอาหารแช่แข็ง-อบแห้งเพียง 5 ล้านบาท หรือ 0.2% เท่านั้น บล.ทิสโก้ห่วง DELTA -HANA เจ็บมาก ชี้เงินบาทแข็งกระทบส่งออกและกำไรบจ.มากกว่า คลังปรับลดจีดีพีปีนี้โตเพียง 2.8% จากส่งออกติดลบ 2.5%
วันที่ 28 ต.ค.2562 ตลาดหุ้นไทยเปิดติดลบเล็กน้อยก่อนมีแรงทิ้งกดหุ้นดิ่งลงไปกว่า 14 จุด ตื่นข่าวไทยถูกตัด GSP และมีไล่ซื้อกลับอย่างรวดเร็วกระชากขึ้นไปบวกกว่า 6 จุด และปิดที่ 1,596.48 จุด เพิ่มขึ้น 3.20 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 49,889.55 ล้านบาท โดยยังมีแรงขายหุ้นไฟฟ้าบางตัวที่ราคาปรับตัวขึ้นมาแรงและเร็วมาก
นักลงทุนสถาบันที่ขายหนักๆมาหลายวัน พลิกกลับมาซื้อ 652 ล้านบาท ต่างชาติขายเล็กน้อย 649 ล้านบาท พอร์ตบล.ขาย 503 ล้านบาท ส่วนรายย่อยซื้อ 500 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิทางภาษีศุลกากรหรือ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ทำให้มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสียภาษี ต้องกลับมาจ่ายอัตราประมาณ 4-5% ปัจจุบันสหรัฐฯให้ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยใช้สิทธิ์เพียง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
“ช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของเขา แต่เราสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้วก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ ปีนี้เราก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าเขาไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของเขา น ส่วนเหตุผลในการตัดสิทธิ์ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน ไม่เกี่ยวกับ 3 สาร แต่อย่างใด”นายจุรินทร์กล่าว
นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากเป็นอันดับหนึ่ง จากทั้งหมด 119 ประเทศ ส่วนสินค้า 573 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิ ไม่ได้หมายความไทยจะสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพียงแต่จะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ เฉลี่ยประมาณ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท
ส่วนสินค้าสำคัญที่ถูกตัด 10 ประเภท เช่น มอเตอร์ไซด์ อาหารปรุงแต่ง โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก อัตรา 26% และต่ำสุดคือ เคมีภัณฑ์ อัตรา 0.1%
“ภาครัฐคงต้องเจรจาขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะยื่นขอเจรจากับสหรัฐหลังช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยที่จะจัดขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ รวมทั้งเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ ต่อไป ” นายกีรติกล่าว
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า สินค้าของบริษัทที่ถูกตัด GSP มีเพียงบะหมี่เกี๊ยวกุ้งที่มียอดขายประมาณ 0.2% ของยอดขายรวมที่จะต้องเสียภาษีในอัตราประมาณ 6% เท่านั้น เพราะบริษัทได้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ เข้าไปลงทุนผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศนั้นๆ ทำให้ยอดขายส่วนใหญ่ในส่วนกิจการต่างประเทศนี้มีสัดส่วนประมาณ 70% ของยอดขายรวม และเป็นกิจการที่มีการเติบโตอย่างดีมาตลอด เช่นเดียวกับการขยายธุรกิจในสหรัฐ บริษัทได้เข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอาหารพร้อมรับประทานและมีการเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ และยังคงมีโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาวะราคาสุกรปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันราคาสุกรในเวียดนามขึ้นมาระดับประมาณ 55,000-57,000 ด่อง ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่สูงสุดของปี ส่วนราคาสุกรในไทยก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น
นายประสิทธิ์ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานปีนี้ว่า ธุรกิจน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย และยังคงมั่นใจปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่อง ส่วนมาตรฐานการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับ Perpetual Bond ที่บริษัทมีอยู่นั้น ไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและผลการจัดอันดับเครดิตของบริษัทดังเช่นที่มีหน่วยงานหนึ่งได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ
ทางด้าน พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย ( RBF ) กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบน้อยเรื่องตัด GSP บริษัทส่งออกกลุ่มอาหารแช่แข็งและอบแห้งเท่านั้น ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.2% ของยอดขายทั้งหมด 2,700 ล้านบาท ส่วนการส่งออกทางอ้อมในกลุ่มแป้งและซอส ลูกค้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ส่งออกอาหารแช่แข็งไปขายที่สหรัฐ เพราะราคาสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย
“สหรัฐฯ ซื้อ Frozen Seafood จากไทยน้อย เพราะของเราแพงกว่า แม้ทางสหรัฐฯจะไปซื้อจากเวียดนามและอินโดนีเซีย RBF ก็ยังเป็นผู้ขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการทั้งสองประเทศนี้อยู่ดี เราได้เริ่มพูดคุยกับลูกค้าปลายทางที่สหรัฐ ที่ซื้อของจากโรงงานที่ประเทศไทยว่าหากมีการย้ายฐานการผลิต ก็น่าจะไปลงที่เวียดนามและอินโดนีเซียมากที่สุด ซึ่งเราได้เตรียมการความพร้อมเรื่องสูตรและการทดลองผลิตไว้แล้ว บริษัทจะสามารถบริหาร Supply Chain ให้ลูกค้าต่อได้ทันทีหากลูกค้าต้องการ”พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าว
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่า การวิเคราะห์เบื้องต้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลัก คือ กลุ่มเกษตร , กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หุ้นอาหารทะเลส่งออก ASIAN, CFRESH, CHOTI, CPF, SSF, TC และTU, หุ้นซอสปรุงรส ได้แก่ SAUCE, หุ้นผักและผลไม้ ได้แก่ APURE, CM และ SFP และหุ้นน้ำผลไม้ ได้แก่ MALEE, SAPPE และ TIPCO เป็นต้น
กลุ่มเกษตรและอาหารที่บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ เช่น MALEE แนะนำ “ขาย” เป้าพื้นฐาน 7 บาท และ SAPPE “ถือ” เป้าพื้นฐาน 29 บาท มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 10% และน้อยกว่า 10% ตามลำดับ ดังนั้น ผลกระทบน่าจะน้อยและค่อนข้างจำกัด
ส่วนหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์ที่วิเคราะห์มี 4 ตัว คือ DELTA แนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 55.5 บาท , HANA “ถือ” เป้าพื้นฐาน 25 บาท , KCE “ขาย” เป้า 13.4 บาท และ SVI “ขาย” เป้าพื้นฐาน 4.26 บาท บล.ทิสโก้เป็นห่วง DELTA และ HANA มากที่สุด เรื่องตัด GSP เพราะมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงประมาณ 26% และ 30% ของยอดขายรวม ตามลำดับ
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้มองประเด็นไทยถูกตัด GSP มีผลกระทบน้อยกว่าประเด็นเงินบาทที่แข็งค่า เป็นความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2562 และปี 2563
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2562 ลงเหลือ 2.8% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 2.6-3.0% ชะลอตัวลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.0% โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยนอกประเทศ เช่นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัว -2.5% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ -2.7ถึง -2.3% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.9%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง จะขยายตัวที่ 3.1% ซึ่งดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน