SCC กำไรแย่กว่าคาดเหลือ 6,204 ลบ.Q3 บอร์ดไฟเขียว’เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’เข้า SET

HoonSmart.com>>บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้รับผลกระทบจากธุรกิจปิโตรเคมี และค่าเงินบาทแข็ง ไตรมาส 3/62 มีกำไร 6,204 ล้านบาท หายไปกว่า 34%  รวม 9 เดือนกำไรลดลง 27% คาดรายได้ปีนี้ลดลง 8% วัฎจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเลียมยังหาจุดต่ำสุดไม่พบ   บอร์ดอนุมัติให้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ เสนอขาย IPO จำนวน 30% 

บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 6,204 ล้านบาท ทรุดลง 3,269 ล้านบาท คิดเป็น 34.50% จากที่มีกำไรสุทธิ 9,473 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงกว่าไตรมาส 2 ประมาณ 11.91%ที่มีกำไรสุทธิ 7,043 ล้านบาท

ส่วนผลงานรวม 9 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 24,909.94 ล้านบาท ลดลง 9,370 ล้านบาทหรือ ประมาณ 27% เทียบกับกำไรสุทธิ 34,280 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า ไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้จากการขาย 110,330 ล้านบาท ลดลง 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ลดลง ส่วนกำไรสุทธิที่ลดลง 35% ส่วนใหญ่กำไรที่ลดลงจากธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ลดลง 2,022 ล้านบาท และส่วนต่างราคาสินค้าลดลง

“แนวโน้มยอดขายปีนี้ลดลง 8% จากระดับ 4.78 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ยอดขายลดลง 8% เป็น 331,803 ล้านบาท จากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นขณะที่ความต้องการใช้ลดลง   คาดวัฎจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่งเริ่มต้นปีนี้และน่าจะต่อเนื่องถึงปี 2563  ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะดีขึ้น  “นายรุ่งโรจน์ กล่าว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า กำไรที่ลดลงมาจากค่าเงินบาทแข็งและธุรกิจปิโตรเคมีขาลง โดยเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนกำไรสูงที่สุด 53% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 19% ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง 17% ที่เหลือเป็นอื่น ๆ 11%  ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4  ธุรกิจปิโตรเคมี มาร์จิ้นยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 ที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ HDPE และแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบอยู่ที่ 457 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาผลิตภัณฑ์และต้นทุนยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ขณะที่ความต้องการใช้ยังมีการเติบโตในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม SCC วางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจนี้ด้วยการมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก

ส่วนธุรกิจซีเมนต์ ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ตลาดซีเมนต์ในประเทศหดตัว 1%  รวม 9 เดือนโตเพียง 2% เท่านั้น  คาดว่าทั้งปี 2562  น่าจะเติบโตได้เพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-4%  และยังได้ปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดซีเมนต์ในอาเซียนนั้น ตลาดยังเติบโตมาก โดยเฉพาะในกัมพูชาและเวียดนาม  กลยุทธ์สำหรับธุรกิจนี้จะยังมุ่งเน้นการรุกธุรกิจค้าปลีก และจัดจำหน่ายให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ในทุกช่องทางและหลากหลายโซลูชั่น

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า แผนการลงทุนยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม แม้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะเผชิญกับวัฎจักรขาลง แต่ในด้านพื้นฐานนับว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะในเวียดนามไม่มีธุรกิจผลิตปิโตรเคมี ขณะที่ตลาดค่อนข้างดี เพราะเวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีจะมีการเติบโตสูง โดยการก่อสร้างปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วราว 24% และจะแล้วเสร็จในปี 2565

สำหรับการลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ในระยะสั้น 1 ปี ยังไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ส่วนในระยะยาว จะลงทุนสินค้าขั้นปลายที่ใกล้เคียงกับสินค้าของกลุ่มลูกค้า เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์อาจจะเป็นสินค้าที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ และอาจจะมีการลงทุนด้านบริการใน EEC เพราะมีงานก่อสร้างมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าในส่วนนี้ให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ บล.เอเซียพลัส คาดผลงานไตรมาส 3/62 ของ SCC มีกำไรสุทธิ 7,611 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เติบโต 8.1%จากไตรมาส 2 เนื่องจากธุรกิจหลักปิโตรเคมีได้รับปัจจัยลบหลายเรื่อง ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรปี 2562-2563 ลงราว 10-15% ทำให้มีโอกาสถูกปรับลดมูลค่าเหลือ 400-420 บาทจาก 460 บาท ขณะที่เงินปันผลน่าจะลดลงเหลือเพียง 13-15 บาท/ปี ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 3.6% เท่านั้น ทำให้ SCC ไม่น่าสนใจ แนะนำ Switch ไป SCCC มูลค่าเหมาะสม 269 บาท ที่มีแนวโน้มธุรกิจดีกว่า

ทางด้านคณะกรรมการบริษัท SCC มีมติอนุมัติการนำหุ้นของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า การนำ SCGP เข้า SET  เพราะเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในอาเซียน จึงได้ศึกษาแผนการเพิ่มทุนเพื่อนำไปขยายงานในอนาคต  ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมายอดขายของธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเติบโตประมาณ  10-20%  ตามการซื้อกิจการที่มีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.2563 นั้น  SCC ได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐน้อยกว่า 5% ของการส่งออกทั้งหมด และสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ที่ส่งออกไปก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของสินค้า GSP ขณะที่ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างก็ส่งออกไปไม่มาก ส่วนแพ็กเกจจิ้งอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เพราะสินค้าทุกอย่างที่ส่งไปสหรัฐฯ จะมีส่วนของแพ็กเกจจิ้งประกอบด้วย ทำให้ได้รับผลกระทบทางอ้อม

บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น(โฮลดิ้ง) ที่ประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวข้องกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรและธุรกิจอื่นๆที่เกียวข้อง ปัจจุบัน SCC ถือหุ้นในบริษัทร่วม 99.04% เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 30% SCC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมไม่ต่ำกว่า 70% ของทุนชำระแล้วหลังการเพิ่มทุน ณ วันที่ 28 ต.ค.62 SCGP มีทุนจดทะเบียน 1,563 ล้านบาท   มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 10 บาท

ด้านผลประกอบการของ SCGP ในปี 2559-2561 มีรายได้ 74,542 ล้านบาท 81,455 ล้านบาท และ 87,255 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 3,851 ล้านบาท 5,374 ล้านบาท และ 6,826 ล้านบาท ตามลำดับ  ส่วนผลงาน 6 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้ 41,529 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 43,773 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,884 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,362 ล้านบาท