บลจ.วี เสิร์ฟ WE-MULTI หากำไรช่วงตลาดผันผวน

HoonSmart.com>>บลจ.วี มอง เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัยกดดันตลาดผันผวน เสิร์ฟกองทุน WE-MULTI เปิดขายครั้งแรก 25-31 ต.ค.62 เน้นกระจายลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก ลดความเสี่ยง ปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับภาวะตลาด เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อควบคู่กับรักษามูลค่าเงินลงทุน ผ่านกองทุนหลัก Baillie Gifford Multi Asset Income Fund จากอังกฤษ

นิตยา เลิศแสงเพชร

นางสาวนิตยา เลิศแสงเพชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ. ) วี กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีหลายปัจจัยกดดันให้การลงทุนเกิดความผันผวน โดยเฉพาะเรื่องข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบให้กระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งสะท้อนจากจากรายงานตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการส่งออก ตัวเลขการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) และการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง จนธนาคารกลางต่างๆ เริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุน และคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันตลาดการลงทุนยังคงเผชิญสถานกาณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเชิงภูมิศาสตร์ทั่วโลก (Geopolitical risk) เช่น ปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลาง ความไม่ชัดเจนของเรื่อง Brexit , การประท้วงในสเปน ชิลี และฮ่องกง รวมไปถึงความไม่แน่นอนการเจรจาการค้าของสหรัฐฯกับจีน

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลลดความน่าสนใจลง  การจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ที่มีกระแสรายได้สม่ำเสมอและสามารถรักษามูลค่าของเงินลงทุนได้ในระยะยาว รวมถึงสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวดีขึ้น เป็นแนวทางการลงทุนที่เหมาะกับกับภาวะตลาดปัจจุบัน

บลจ.วี จึงเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) “กองทุนเปิด วี มัลติ แอสเซท อินคัม (WE-MULTI)  ระหว่างวันที่ 25-31 ต.ค.2562  โดยลงทุนผ่านกองทุนหลัก Baillie Gifford Multi Asset Income Fund ที่มีนโยบายการลงทุนเน้นกระจายลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง ตราสารทุน ซึ่งบริหารจัดการโดย Baillie Gifford & Co Limited ผู้จัดการกองทุนในประเทศอังกฤษที่มีความโดดเด่นในด้านการดูแลพอร์ตการลงทุนของ Pension Fund ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ กองทุนหลักใช้กลยุทธ์ลงทุนด้วยการปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับภาวะตลาด (Active asset allocation) ด้วยการคัดเลือกตราสารลงทุนต่างๆแบบผสมหลากหลาย เน้นสินทรัพย์ที่สร้างกระแสรายได้ (Securities Selection) พร้อมด้วยกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง (Hedging strategies) เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตในการรักษามูลค่าเงินลงทุน

อิศรา พุฒตาลศรี

นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วี เปิดเผยว่า ในด้านการบริหารพอร์ตการลงทุน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและทำให้ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน การเลือกสินทรัพย์หรือการจับจังหวะลงทุนจึงอาจทำได้ค่อนข้างยาก ขณะเดียวกันการจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำหรือถือเงินสดเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ต่ำหรือไม่ชนะเงินเฟ้อ

ด้วยกลยุทธ์การลงทุนร่วมกับพันธมิตรของ บลจ.วี ในต่างประเทศ ในไตรมาส 4 บลจ.วี แนะนำการจัดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงพร้อมกับไม่ปิดโอกาสการสร้างผลตอบแทน ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนของ Baillie Gifford ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนของกองทุน Pension Fund ซึ่งเน้นการลงทุนในลักษณะนี้สามารถตอบวัตถุประสงค์การลงทุนที่ดี สะท้อนจากกองทุนหลักมีผลตอบแทนที่น่าสนใจแม้ในช่วงตลาดผันผวน โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1ต.ค. 2018-31 ส.ค.  2019)ให้ผลตอบแทนที่ 10.30% ขณะที่มีอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Sharpe Ratio) อยู่ที่ 1.34% และในช่วงปีนี้ที่ตลาดมีความผันผวน ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562  มีผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งปี 16.60% ขณะที่กลุ่มกองทุนประเภทเดียวกัน (Peers Performance) อยู่ในระดับ 10.10% ซึ่งสะท้อนว่ากองทุนมีการลงทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้เหมาะกับภาวะตลาดได้ดีอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนหลักของกองทุนเปิด WE-MULTI จะเน้นลงทุนลงทุนในตราสารที่สร้างรายได้ทั่วโลกโดยปัจจุบันมีสัดส่วนลงทุนในตราสารทุน ประมาณ 28%  ลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Fixed Income ทั่วโลกประมาณ 42% และลงทุนในสินทรัพย์ประเภทกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 25%

“ กองทุนเปิด WE-MULTI จึงเป็นกองทุนผสมที่น่าสนในช่วงภาวะตลาดเช่นนี้ โดยกองทุนเน้นรักษามูลค่าเงินลงทุนในระยะยาวและปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับภาวะตลาดที่ผันผวน และมีความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระดับต่ำ โดยปัจจุบันกองทุนหลักสร้างผลตอบแทนจากรายได้ของสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนที่ระดับ 3.5-4.5% ต่อปี นอกจากนี้ การจัดพอร์ตในตราสารทุนจะยังสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนในจังหวะที่ภาวะตลาดกลับมาดีขึ้น จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ต ลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในภาวะที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ”