3 แบงก์เสียหาย มาร์เก็ตแคปวูบ 6 หมื่นลบ. KBANK-SCB โลว์ 7 ปี ยังไม่แนะซื้อ

HoonSmart.com>>ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ” บัณฑูร ล่ำซำ” ทุบราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ร่วงติดดิน (อีกแล้ว)

นักลงทุนจำกันได้ไหม เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ตลาดตกใจกับการให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์เรื่องสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) จะเพิ่มขึ้นในปี 2562 กดดันราคา KBANK หลุด 200 บาทไปอย่างง่ายดาย ก่อนที่ราคาจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากมีการชี้แจงว่าเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากนโยบายที่ต้องการบริหารเอง เพื่อได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการขายทิ้ง

แต่รอบนี้ ธุรกิจแบงก์เปราะบางมากกว่า การเปิดประมาณการเป้าหมายปี 2563 มีตัวเลขหลายตัวดูแย่ลง มีการอ้างอิงตามมาตรฐานการบัญชีใหม่(TFRS9) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563  ผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงรุนแรงอย่างที่ปรากฎในตลาดหุ้นวันที่ 24 ตุลาคม 2562 นอกจาก KBANK จะนำดิ่งลงหนักกว่า 7% แล้ว ยังลากหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และธนาคารกรุงเทพ(BBL)ลงหลุมตามไปด้วย  รวม 3 แบงก์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปทรุดลง 60,382 ล้านบาท กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นติดลบเกือบ 6 จุด หากรวมราคาหุ้นธนาคารอื่นด้วย มาร์เก็ตแคปหายไปประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ดัชนีติดลบ 10.49 จุด หรือ 0.64% ปิดที่ 1,620.97 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 70,336 ล้านบาท ดัชนีกลุ่มธนาคารปิดที่ 422.48 จุด ร่วงลง 17.37 จุด หรือ 3.95% มูลค่าการซื้อขายมากถึง 15,280 ล้านบาท หลังจากหุ้นแบงก์แดงเถือกทุกตัว ยกเว้น TMB นำโดย KBANK ดิ่ง 7.38% ตามด้วย SCB 6.58% TISCO 3.05% BBL 2% เศษ ใกล้เคียงกับ KTB ,TCAP ขณะที่การซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่ม กองทุนในประเทศทิ้งเจ้าเดียว มากถึง 4,523 ล้านบาท ส่วน 3 กลุ่มซื้อสวน ต่างชาติเก็บ 2,826 ล้านบาท รายย่อยซื้อ 1,112 ล้านบาทและ บัญชีบล.ซื้อ 584 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าราคาหุ้นของแบงก์ใหญ่จะลงไปต่ำมาก KBANK-SCB นิวโลว์ในรอบ 7 ปีแล้วก็ตาม แต่กองทุนและนักวิเคราะห์ยังไม่แนะนำให้ซื้อ…

“จินตนา เมฆินทรางกูร” ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับตัวลดลงแรง โดยเฉพาะ KBANK หลังจากธนาคารออกมาประมาณการเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งหลายตัวต่ำกว่าเดิม ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่มาจากดอกเบี้ย ขณะเดียวกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLก็เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลและเทขายหุ้นออกมามาก ลามไปยังธนาคารอื่นๆ จากผลกระทบดิสรัปชั่น รายได้ของธนาคารถูกกระทบอย่างหนัก

“ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี ประกอบกับมาตรฐานบัญชี TFRS 9 ที่จะเริ่มใช้ในต้นปีหน้า จึงอาจกระทบการเติบโต แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้ไม่มาก ขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากเดิมที่เคยเติบโตก็ลดลงต่อเนื่อง แม้กระทั่งค่าธรรมเนียมจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  คนไปใช้บริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตรามากขึ้น ค่าธรรมเนียมขายกองทุนรวมและประกันก็ลดลง ดูเหมือนแบงก์จะมีปัจจัยลบรอบด้าน” จินตนากล่าว

นอกจากนี้ยังต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปี 2562 อาจกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ซึ่งจะกระทบรายได้ของแบงก์ได้อีก ดังนั้นในแง่ของการลงทุน จึงยังไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นแบงก์ในช่วงนี้ แม้ราคาจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตาม โดยราคาหุ้น KBANK และ SCB ปรับตัวลงทำนิวโลว์รอบ 7 ปี

ส่วนแรงขายของนักลงทุนสถาบันที่ออกมามาก ในวันที่ 24 ต.ค.คาดการณ์ยากว่ามาจากกลุ่มไหน ประกอบกับหุ้นแบงก์จะเป็นหุ้นที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนหลักๆ ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งไม่เพียงแต่กองทุนรวม ด้านกองทุนส่วนบุคคลและบริษัทประกันเองก็มีการลงทุนเช่นกัน หากภาพกลุ่มแบงก์เปลี่ยนก็อาจปรับพอร์ตก็เป็นไปได้

ทางด้าน “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังไม่แนะนำให้ให้ลงทุนในกลุ่มแบงก์ เพราะยังมีความกังวลว่าจะแย่กว่าเดิม แม้ว่าไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิจะดีขึ้น แต่ NPL ก็สูงขึ้นเช่นกัน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ KBANK , SCB และ BBL ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ เช่น สงครามการค้ายังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของธนาคารใหญ่ ถือว่า “น่าสนใจ” แต่เมื่อตลาดไม่เล่น นักลงทุนไม่สนใจ ราคาหุ้นยังมีโอกาสไหลลงต่อ ปัจจุบันราคาหุ้นลงมาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) มากขึ้น โดยเฉพาะ BBL ขณะที่ผลกำไรที่เกิดขึ้นยังมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่ดี คิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 4-5%ต่อปี ดีกว่าฝากเงินกินดอกเบี้ยตั้งมากมาย

นอกจากนี้ ธนาคารใหญ่มีการเตรียมกระสุนไว้พร้อมรับมือเศรษฐกิจขาลง และหลักเกณฑ์ใหม่ๆ เห็นได้จากการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เช่น SCB เพิ่มอีก 9,100 ล้านบาท รวมกับสำรองปกติ เป็น 15,273 ล้านบาทในไตรมาส 3/62

ขณะเดียวกันธนาคารใหญ่ยังมีการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 โดยออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ BBL ระดมทุนได้จำนวน 1,200 ล้านเหรียญ อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.733% ต่อปี SCB ขาย 1,000 ล้านเหรียญ แบ่งเป็น 500 ล้านเหรียญ อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.90% และ 500 ล้านเหรียญ อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4.40% KBANK ขายได้ 800 ล้านเหรียญ อายุ 12 ปี ดอกเบี้ย 3.343% เตรียมการไว้ก่อน เพราะธุรกิจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง ดอกเบี้ยขาลงแน่นอน ย่อมกระทบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin-NIM) รวมถึงพอร์ตลงทุนของธุรกิจประกัน เห็นได้ชัดเจนจาก KBANK รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในช่วง 9 เดือน ติดลบถึง 6%

กสิกรไทยตั้งเป้าปี 63 เน้นใช้ดาต้าปล่อยสินเชื่อรวมเติบโต 4-6%

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 26 ก.ย.62 อนุมัติเป้าหมายทางการเงิน  สำหรับปี 2563 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในเบื้องต้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เปลี่ยนไป อีกทั้งเป้าหมายดังกล่าวยังอ้างอิงตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยมองปี 2563 ปัจจัยท้าทายกดดันเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง เดินหน้าสร้างบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งชีวิตและธุรกิจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุน และเพิ่มการปล่อยสินเชื่อรายย่อยด้วยการใช้ศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมเติบโต 4-6%

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ เงินบาทที่ยังคงแข็งค่าส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คาดว่าปี 2563 การส่งออกไทยจะขยายตัวติดลบ 2% ด้านภาคเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ จากการเดินหน้าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ภายใต้ปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ ธนาคารกสิกรไทยกำหนดทิศทางการดำเนินงานปี 2563 กำหนดเป้าหมายธุรกิจ “To Empower Every Customer’s Life and Business” ในการเป็นสถาบันการเงินที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างนวัตกรรมทางการเงิน และทำงานเชิงรุก เพื่อส่งมอบบริการมาตรฐานสากล และคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ด้วยการประสานพลังเทคโนโลยีและบุคคลากรคุณภาพ เพื่อตอบสนองลูกค้าทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ

ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2563 โดยตั้งเป้าสินเชื่อรวมโต 4-6% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจลูกค้าบรรษัทเติบโต 2-4% สินเชื่อธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 9-11%  NIM) อยู่ที่ 3.1- 3.3% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ -5 ถึง -17% ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ คาดว่ามีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio Gross) ที่ 3.6-4.0%

ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานในปี 2563 ไม่ดีนัก สวนทางกับมุมมองของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3-4% จากปีนี้เพิ่งปรับลดลงมาเหลือ 2.7-3.2% จะต้องจับตาว่าสำนักไหนจะคาดการณ์ถูกต้อง ..