HoonSmart.com>> “บัตรกรุงไทย” ไตรมาส 3/62 กำไร 1,292 ล้านบาท ลดลง 7.45% จากงวดปีก่อน เหตุตั้งสำรองหนี้-ตัดหนี้สูญฉุด ด้านรายได้รวมโตต่อเนื่อง ยอดลูกหนี้รวมเพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปี ด้าน 9 เดือน กอดกำไร 4,205 พันล้านบาท โต 8% อัดงบกระตุ้นยอดโค้งสุดท้าย หวังทั้งปีใกล้เคียงเป้า
บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 มีกำไรสุทธิ 1,292.19 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.50 บาท ลดลง 7.45% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,396.21 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.54 บาท
ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 4,204.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.63 บาท เพิ่มขึ้น 8% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 3,911.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.52 บาท
บริษัทฯ ชี้แจงผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 มีรายได้รวม 5,597 ล้านบาท มากกว่าสองไตรมาสที่ผ่านมา โดยไตรมาส 1/62 มีจำนวน 5,574 ล้านบาท และ 5,528 ล้านบาท ในไตรมาส 2/62 ยอดลูกหนี้รวมขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นผลมาจากการขยายฐานจำนวนสมาชิกและเพิ่มฐานลูกหนี้ทั้งสองธุรกิจ โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทสร้างรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มทั้งจากยอดพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 10% เมือเทียบงวเดียวกันของปีก่อนและ 9% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
การใช้จ่ายผ่านบัตรที่ยังคงมีอัตราเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรม บริษัทสามารถควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้ดี รายได้หนี้สูญได้รับคืนของไตรมาสสามเติบโตเล็กน้อยที่ 2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการตลาดในการจัดหาบัตรใหม่และใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการตลาด พร้ อมด้วยการรักษาคุณภาพของพอร์ตให้อยู่ในระดับที่ยอมรับความเสี่ยงได้ จึงต้องมีมูลค่าการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวมมีมูลค่าสูงขึ้นทำให้กำไรไตรมาส 3/62 ลดลงบ้างเมือเทียบงวดปีก่อน
อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ดีโดยอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมที่มีอัตราลดลงได้อีก สะท้อนในภาพรวม 9 เดือนของปี 2562 ขณะที่ NPL ลูกหนี้รวมของบริษัทอยู่ที่ 1.07% ลดลงจาก 1.23% ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 1.14% ณ สิ้นปี 2561 แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะยังสามารถรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับต่า แต่คาดว่า NPL จะเริ่มสูงขึ้นจากความกดดันของภาพรวมเศรษฐกิจไทย
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทปรับกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้เติบโตจากจำนวนบัตรและพอร์ตลูกหนี้ที่ขยายตัวมากขึ้น โดยยอดลูกหนี้รวมมีอัตราเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของสำรองปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในช่วงท้ายๆ ของไตรมาส ทำให้ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายของบริษัทในงวด 9 เดือนขยายตัวสูงกว่าอุตสาหกรรม
ในขณะที่บริษัทยังสามารถควบคุมคุณภาพพอร์ตได้ดี บริษัทจะมีการใช้งบประมาณในการเพิ่มจำนวนฐานบัตรใหม่ รวมทั้งเพิ่มงบการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เพื่อให้ส่งผลต่อการขยายตัวของพอร์ตนั้น ก็อาจจะมีผลกระทบต่อกำไรรวม อย่างไรก็ตามบริษัทจะมุ่งมั่นในการดำเนินการ เพื่อให้ผลประกอบการทั้งปี 2562 ใกล้เคียงกับประมาณการที่ได้เปิดเผยไว้
ข่าว
TMB กำไร 2.1 พันลบ. เพิ่ม 10% เทียบ Q2 หนี้เสียลดเหลือ 2.52%
SCB ฟาดกำไร 1.48 หมื่นลบ. พุ่ง 40% บุ๊กขายธุรกิจประกัน ตั้งสำรองเพิ่ม