HoonSmart.com>> “สยามแก๊สฯ” เข้าซื้อกิจการ “ไทยพับลิคพอร์ต” ให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึก ให้เช่าคลังสินค้าเหลว ท่าเรือเกาะสีชัง มูลค่า 3.36 พันล้านบาท ด้าน RPC บุ๊กกำไร 358 ล้านบาท หลังตัดขายหุ้น “ไทยพับลิคพอร์ต” 30% ให้ นำเงินล้างขาดทุนสะสม
บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ซื้อหุ้นของบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต จำกัด (TPP) สัดส่วน 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 3,360 ล้านบาท เพื่อเป็นการลงทุนในโครงการคลังน้ำมันและท่าเรือ บริเวณเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีบริษัท สยาม แอลเอ็นจี จำกัด (SLNG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของทุนจดทะเบียน เป็นผู้ลงทุน
สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1 SLNG ได้ซื้อหุ้นของ TPP จาก บริษัท ธานินทร์ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อรรฐนี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท อัครพร็อพเบอร์ตี้ จำกัด และ บริษัท ศรีเสรีขนส่ง จำกัด จำนวน 42,532,164 หุ้น หรือคิดเป็น 40.51% ของทุนชำระแล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2562 โดยชำระค่าหุ้นจำนวน 1,361.03 ล้านบาท หรือ 32 บาทต่อหุ้น
ขั้นตอนที่ 2 SLNG เข้าซื้อหุ้น TPP จำนวน 31,500,000 หุ้น คิดเป็น 30% ของทุนชำระแล้ว โดยชำระค่าหุ้น 1,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 31.74603 บาท หลังจากคณะกรรมการบริษัท อาร์พีซีจี (RPC) ได้มีมติอนุมัติให้ขายหุ้นสัดส่วน 30% ของทุนชำระแล้ว ให้ SLNG โดยดำเนินการจดทะเบียนโอนหุ้นที่กระทรวงพาณิชย์ภายในวันที่ 18 ต.ค.2562
หลังจากนั้นขั้นตอนที่ 3 SLNG จะซื้อหุ้น TPP จาก บริษัท พงศ์เอราวัณ จำกัด จำนวน 29,913,446 หุ้น หรือ 28.49% ของทุนชำระแล้วภายในเดือน ม.ค.2563 ซึ่งจะส่งผลให้ SLNG ถือหุ้นเพิ่มเป็น 99%
ปัจจุบัน TPP ประกอบธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึก และให้เช่าคลังสินค้าเหลว ตั้งอยู่ที่ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 240 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา และที่ดินสัมปทาน จำนวน 103 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา โดยที่ดินสัมปทานอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานจัดการที่ดินของรัฐที่พิจารณาออกสัมปทานบัตรที่ดิน โดยมีท่าเทียบเรือน้ำลึกมีทั้งหมด 4 ท่าเทียบเรือ และคลังสินค้าเหลว มีถังเก็บสินค้าเหลว ทั้งหมด 14 ถัง
สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทและจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยราคาซื้อขายในครั้งนี้เป็นราคาที่ตกลงกัน ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายการประกอบธุรกิจด้านพลังงานอื่นเพิ่มเติม โดยเป็นธุรกิจทางด้านคลังน้ำมันและท่าเรือ ซึ่งธุรกิจคลังน้ำมันจะช่วยให้ บริษัทมีรายได้และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้ท่าเรือของ TPP ในการรับสินค้าอื่นๆ ในอนาคต เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นต้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน
ด้านบริษัท อาร์พีซีจี (RPC) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 มีมติอนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดของ TPP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของบริษัท สัดส่วน 30% รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นละประมาณ 31.746 บาท
สำหรับเงื่อนไขในการชำระเงิน ณ วันลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นจำนวน 200 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับจากวันที่โอนกรรมสิทธิ์หุ้น TPP เรียบร้อยแล้ว ชำระส่วนที่เหลืออีก 800 ล้านบาท เป็นตั๋วอาวัล อายุ 1 ปี
ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น บริษัทฯจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่การจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดใน TPP ทำให้เกิดกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุนในงบการเงินเฉพาะของบริษัทประมาณ 200.89 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 ตามงบการเงินเฉพาะลดลงจาก 713.33 ล้านบาท เหลือ 512.44 ล้านบาท และทำให้เกิดกำไรจากการขายเงินลงทุน ในงบการเงินรวม 357.66 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามงบการเงินรวมลดลงจาก 546.81 ล้านบาทเหลือ 189.16 ล้านบาท
“คณะกรรมการบริษัทเห็นว่าการขายหุ้นมีความสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันถือหุ้นเพียง 30% ทำให้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยและในบางครั้งบริษัทไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ TPP ได้หากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ TPP ไม่เห็นด้วย” RPC ระบุ
การจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจะสามารถช่วยปรับปรุงผลประกอบการของบริษัทให้ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) ตามสัดส่วนเงินลงทุนของ TPP จากงบการเงินหลังปรับปรุง ช่วยลดขาดทุนสะสมลง ซึ่งหากบริษัทล้างขาดทุนสะสมได้หมดและมีกำไรสะสมจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต อีกทั้งการขายหุ้นช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุน