ทริสคงเครดิตพินิจ THANI แนวโน้ม “ลบ” ทบทวนใหม่หลังแม่รวมกิจการจบ

HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” คงเครดิต “Negative” CreditAlert องค์กร & ตราสารหนี้ “ราชธานีลิสซิ่ง” ทบทวนอีกครั้งหลังแบงก์ทหารไทยรวมแบงก์ธนชาตจบ

ทริสเรทติ้งคง “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะสามารถทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทได้อีกครั้งเมื่อธุรกรรมการรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เสร็จสิ้นลง หรือเมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่ทริสเรทติ้งจะทำการวิเคราะห์และหาข้อสรุปในเชิงลึกสำหรับอันดับเครดิตดังกล่าวของบริษัทได้

ในการพิจารณาอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือธนาคารธนชาตด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคง อีกทั้งยังสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทซึ่งอยู่ในระดับที่ยอมรับได้อันเป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บหนี้และระบบบริหารความเสี่ยงที่ต่อเนื่องด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและการที่บริษัทมีการกระจุกตัวในภาคส่วนธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมากคือสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของบริษัท

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งได้ออกประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม (CreditAlert) “Negative” หรือ “ลบ” ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2562 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ING Groep N.V. (ING) และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 เพื่อดำเนินการรวมกิจระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต

เครดิตพินิจแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความเห็นของทริสเรทติ้งว่าอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับธนาคารธนชาตซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารแม่ที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทอีกต่อไปเมื่อมีการรวมกิจการของธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทยไปเป็นธนาคารแห่งใหม่ และ/หรือหากบริษัทกลายไปเป็นบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัททุนธนชาต ในการนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการทางการเงินและสถานะของบริษัทเองเป็นหลัก และ/หรือขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีกับบริษัททุนธนชาต ซึ่งปัจจุบันอันดับเครดิตของบริษัททุนธนชาตก็อยู่ภายใต้การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ด้วยเช่นเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต คือ การสนับสนุนจากบริษัทแม่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือธนาคารธนชาตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าอันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยเสริมจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท การเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารธนชาตทำให้ทริสเรทติ้งลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทลงไป

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารธนชาตสามารถให้แก่บริษัทนั้นมีมากพอที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและสภาพคล่องของบริษัทได้ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 5.8 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2562 ในส่วนของการสนับสนุนทางด้านธุรกิจนั้น ธนาคารธนชาตได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ในขณะที่บริษัทเองก็มีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาตด้วย

ธุรกิจเติบโตในระดับปานกลาง สถานะทางการตลาดของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องดังจะเห็นได้จากพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการเติบโตในระดับที่ค่อนข้างดี โดยในปี 2561 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 20.4% จากสิ้นปีก่อนหน้า เป็น 4.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนสำคัญมาจากธุรกิจหลักคือสินเชื่อรถบรรทุกซึ่งเป็นสินเชื่อที่บริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วน 70% ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวมของบริษัท ในขณะที่สินเชื่อที่เหลือเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งคิดเป็น 30% ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทจะชะลอตัวลงจากการแข่งขันที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอโดยสะท้อนจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่ชะลอตัวลงเหลือ 5.3% จากสิ้นปี 2561 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับประมาณ 3%-12% ต่อปีในระหว่างปี 2562-2564

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลงอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร จากบริษัทมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัวและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงทั้งที่อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อมีแนวโน้มลดลง ในปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 24% จากปี 2557 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ในปี 2561 จาก 3.1% ในปี 2560 สำหรับครึ่งแรกของปี 2562 นั้น บริษัทมีกำไรสุทธิ 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยบริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในระยะปานกลาง อัตราส่วนผลตอบแทนของสินเชื่อที่ลดลงประกอบกับความเป็นไปได้ที่ต้นทุนทางการเงินที่อาจปรับตัวสูงขึ้นภายหลังการปรับโครงสร้างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก็อาจเป็นปัจจัยท้าทายความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.5%-3.9% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงมากยิ่งขึ้น เช่น รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มือสอง เป็นต้น ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 0.6%-0.7% ของสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจะรักษาระดับมากกว่า 4.0% จนถึงปี 2564

คุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรองยังคงอยู่ในระดับที่รับได้ ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้กลุ่มลูกค้าจะมีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนไหวก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องมาจากเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อและกระบวนการติดตามหนี้ที่เข้มงวดของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 4% ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทค่อย ๆ ปรับลดลงมาตั้งแต่ปี 2558 โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% ณ สิ้นปี 2561 จาก 4.1% ณ สิ้นปี 2560 เนื่องจากการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้ในสินเชื่อบางกลุ่ม ถึงแม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.9% ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากสถานะของลูกค้าในกลุ่มรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่อ่อนแอลง แต่ทริสเรทติ้งก็ยังคงคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาคุณภาพของสินทรัพย์เอาไว้ได้จากการคัดกรองลูกค้าที่เข้มงวดและกระบวนการติดตามลูกค้าที่ใกล้ชิด

อัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 110% ณ เดือนมิถุนายน 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเช่นนี้ต่อไปได้ตลอดระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่ (IFRS 9) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2563