ความจริงความคิด : กฎ 7 ข้อสู่ความเป็นอิสระทางการเงินสำหรับผู้หญิง

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ความไม่ประมาท และ การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่เมื่อมองด้านการเงินแล้ว คนที่น่าจะเป็นห่วงเรื่องการเงินมากที่สุดก็คงเป็นพวกวัยรุ่นที่เพิ่งจบการศึกษา เพราะรายได้ก็น้อย แต่รายจ่ายเยอะ ขณะเดียวกันก็มักจะมีความฝันและความสุขในการใช้ชีวิตที่ต้องใช้เงินเยอะ และอีกคนที่น่าห่วงก็คือ ผู้หญิง เพราะมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเงินมากกว่าผู้ชาย ขณะที่มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะอายุยืนยาวกว่า หรือ โอกาสเป็น single mum มากกว่า ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรใส่ใจเรื่องเงินมากกว่าผู้ชาย

เมื่อพูดถึงผู้หญิงกับการเงินแล้ว บังเอิญผมได้อ่านพบแนวคิดการบริหารเงินสำหรับผู้หญิงจาก หนังสือ Sheconomics ซึ่งเป็นหนังสือการเงินสำหรับสาวๆ ที่อยากกำหนดอนาคตและควบคุมการเงินของตัวเองได้ อยากมีชีวิตตามความใฝ่ฝันและมีอิสระทางการเงินอย่างแท้จริง ความหวังทั้งหมดนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ด้วยกฎ 7 ข้อต่อไปนี้

1. รู้เท่าทันอารมณ์ อย่าปล่อยให้มีผลต่อพฤติกรรมทางการเงินของคุณ คือ ให้มีวินัยทางการเงิน ให้รู้จักออมก่อนที่จะใช้เงิน ทำนองที่ว่า มีเงินได้ เก็บออมก่อน เหลือค่อยใช้ เขียนเป็นสูตรทางการเงินง่ายๆ ก็คือ เงินได้ – เก็บออม = ใช้จ่าย เพราะหากเราใช้สมการที่เราคุ้นเคย คือ เงินได้ – ใช้จ่าย = เก็บออม เรามักจะไม่มีเงินเหลือให้ออม เพราะเมื่อมีเงินในกระเป๋าเยอะ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเยอะ ข้อมูลในอดีตที่ผมเคยอ่านพบจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหานี้ คือ รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามกัน คือ รายจ่าย ทำให้เงินออมคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้เลย

2. ก้าวข้ามข้อจำกัดทางความคิดโดยสร้างทัศนคติที่ดีทางการเงิน การเงินไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าอาจจะดูไม่สนุก (เทียบกับการช็อปปิ้ง) แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้หญิงควรจะเรียนรู้ และผู้หญิงเองโดยธรรมชาติก็มักจะเป็นผู้เก็บรักษาเงินของครอบครัว (ทำนองผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน) และมีความละเอียดในตัวอยู่แล้ว การศึกษาเรื่องการเงิน ผู้หญิงจึงมักจะเข้าใจได้ดีกว่าผู้ชาย เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันจะพบผู้หญิงเก่งในระดับแนวหน้าในวงการการเงินมากมาย ดังนั้นหากผู้หญิงศึกษาเรื่องการเงินมากขึ้น ก็สามารถสร้างผลตอบแทนของเงินออมให้มากขึ้นได้

3. ใช้เงินอย่างฉลาด วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม และใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่า ผู้หญิงมักเป็นผู้กำกับการใช้จ่ายเงินของครอบครัว จึงจำเป็นต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม ต้องรู้จักแบ่ง ค่าใช้จ่ายใดที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายใดที่ไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายใดเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ค่าใช้จ่ายใดเป็นค่าใช้จ่ายผันแปร ค่าใช้จ่ายใดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน โดยจะต้องบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

4. กำหนดเป้าหมายชีวิต และกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่สอดคล้องกัน เป้าหมายชีวิตที่สำคัญสำหรับคนโดยส่วนใหญ่แล้ว ก็คือ การออมเงินเพื่อบุตรหลาน การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ การออมเงินเพื่อสร้างฐานะ การออมเงินสำหรับเป็นมรดก การออมเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในสังคมไทยปัจจุบันที่การหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้น และผู้หญิงเองมักเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร (ความรักของแม่นั้นยิ่งใหญ่) ขณะที่ผู้หญิงก็เป็นเพศที่มีปัญหาด้านสุขภาพสูงกว่าผู้ชาย และมีอายุที่ยืนยาวกว่า ผู้หญิงจึงมีความจำเป็นของการตั้งเป้าหมายชีวิต และ แปลงเป้าหมายชีวิตให้เป็นเป้าหมายทางการเงินมากกว่าผู้ชาย โดยจะต้องกำหนดเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน กำหนดเป็นตัวเลขทางการเงินได้ กำหนดระยะเวลาที่ต้องการในการบรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญเป้าหมายนั้นต้องเป็นจริงได้

5. เผชิญหน้ากับหนี้อย่างกล้าหาญ ดอกเบี้ยกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เงินเฟ้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ปรากฎการณ์แปลว่า ขณะที่รายได้เราจำกัด (โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน) เรากลับมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะจำกัดรายจ่ายให้เหลือเฉพาะรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าอาหาร เราก็พบว่าค่าอาหารก็แพงขึ้นเช่นกัน (อย่างเช่นราคาหมูที่แพงมากในปัจจุบัน) หากเรามีภาระหนี้ เช่น หนี้บ้านอีก ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็จะทำให้ภาระหนี้เราเพิ่มขึ้น เราจึงควรที่จะศึกษาช่องทางในการบริหารหนี้เพื่อปรับลดภาระหนี้ลง โดยอาจขอ refinance กับธนาคารเจ้าหนี้เดิม หรือ ติดต่อสถาบันการเงินอื่นแทนก็ได้

6. หาคู่คิดหรือเพื่อนคุยทางการเงิน ไม่ต้องกังวลว่า ไม่รู้จะหาใคร เพียงคุณเดินไปที่ธนาคารพาณิชย์ บอกพนักงานธนาคารว่าสนใจจะวางแผนการเงิน เท่านี้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาทางการเงินแก่คุณ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และไม่มีข้อผูกมัดว่าคุณจะต้องใช้บริการหรือซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินที่คุณขอคำปรึกษา สำคัญคือ คุณจะต้องหนักแน่น อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดๆทั้งสิ้นจนกว่าคุณจะมั่นใจได้ว่า คำแนะนำที่คุณได้รับจากเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินนั้นเป็นประโยชน์ต่อคุณจริงๆ ไม่ใช่คำแนะนำเพื่อหวังขายของให้ถึงเป้าของเจ้าหน้าที่ธนาคาร และทางที่ดี ควรปรึกษาสัก 2-3 สถาบันการเงิน เพื่อเปรียบเทียบและตรวจสอบคำแนะนำว่าเหมาะสมกับคุณจริงๆหรือไม่

7. เตรียมความพร้อมเพื่อชีวิตที่ดีหลังเกษียณ “ผู้หญิงแก่ง่าย ตายยาก” ไม่ใช่คำกระแนะกระแหนที่ผู้ชายชอบแซวผู้หญิงอีกต่อไป แต่มันคือความจริง จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) เมื่อปี 2551 พบว่า

• ผู้สูงอายุทุก 100 คนจะเป็นผู้หญิง 54 คน เป็นผู้ชาย 46 คน
• ในจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว 373,515 คน สองในสามจะเป็นผู้หญิง
• ผู้หญิงอายุยืนยาวกว่าชายคือ ผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 75.4 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 68.4 ปี
• ขณะที่ ผู้หญิงกลับมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าชาย เท่ากับ 18.1% ต่อ 14.5%

เพราะฉะนั้น จงเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ

ดังนั้น เริ่มบริหารจัดการเงินตั้งแต่วันนี้นะ เพราะยิ่งจัดการเงินเร็วเท่าไหร่ ความมั่งคั่งก็มีมากเท่านั้น ความเสี่ยงในชีวิตก็น้อยลงมากเท่านั้น