3 บจ.ขายไฮบริดบอนด์ 2.1 หมื่นลบ. แบงก์กินค่าฟีแทนดอกเบี้ย

HoonSmart.com>> บจ. 10 แห่ง เตรียมขายหุ้นกู้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท   IVL-BCP-BGRIM ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เมื่อเลิกกิจการ ขายสถาบัน-รายใหญ่  เสนอ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ย 5% ต่อปี ส่วน SCC ระดม 1 หมื่นล้านบาท  4 ปี จ่าย 3%  แบ่งขายประชาชนทั่วไปส่วนหนึ่ง  มีแบงก์ใหญ่จัดจำหน่าย ส่วน ACAP ดิ้นขอผู้ถือหุ้นกู้ต่ออายุ 1 ปี ยอมจ่ายเพิ่ม 1.5% เป็น 7.5%  

 

สมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.)อย่างน้อย  10 บริษัท เตรียมออกหุ้นกู้ มูลค่ารวม 52,400 ล้านบาท เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในเดือนต.ค. และพ.ย.  ในรอบนี้มีบริษัทหันมาสนใจออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เมื่อเลิกกิจการ หรือที่เรียกว่า HYBRID Bond -ไฮบริดบอนด์ถึง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เสนอขาย 15,000 ล้านบาท บริษัท บางจาก  คอร์ปอเรชั่น (BCP) เสนอขาย 10,000 ล้านบาท และบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เสนอขาย 6,000 ล้านบาท โดยเสนอผลตอบแทน 5 ปีแรก จ่ายอัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี

ก่อนหน้านี้ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ได้ประสบความสำเร็จในการออก HYBRID Bond เมื่อปี 2561 วงเงิน 1,500 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 8.50% ในช่วง 5 ปีแรก  และในปี 2560 บริษัท ซีพีออลล์ (CPALL) เสนอ 5 ปีแรก  อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี

บริษัทที่ออก HYBRID Bond ต้องยอมรับภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าการออกหุ้นกู้ทั่วไป เพราะไม่มีกำหนดอายุ  ผู้ออกสามารถเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขได้ เพื่อไปจ่ายทบกับดอกเบี้ยงวดถัดไปได้ แต่ห้ามจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส บริษัทเคมีภัณฑ์อันดับที่ 35 ของโลก กล่าวว่า บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่มีอันดับเครดิตที่ A  ดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี  ซึ่งเป็นอัตราที่จูงใจสำหรับการลงทุนในภาวะปัจจุบัน ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีอยู่ที่ 1.40% และอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.49%  บริษัทฯ ได้แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย คาดว่าจะเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 4-7 พ.ย. 2562 จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท

“การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตและความหลากหลายของธุรกิจ  ที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายงานด้วยกลยุทธ์และการเติบโตอย่างมั่นคง ส่งผลให้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รายได้และกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง  สร้างการเติบโตยั่งยืนในระยะยาว”

นายซันเจย์ อาฮูจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์สกล่าวเสริมว่า  บริษัททริสเรทติ้งได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ IVL 2 ปีซ้อน ในปี 2560 และปี2561  เป็น “AA-” แนวโน้ม “คงที่” และเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ จาก “A-“ เป็น “A” ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ระดับโลก (DJSI World) และยังคงเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ กลุ่มดัชนีตลาดประเทศเกิดใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

สำหรับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยังคงออกและเสนอขายหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง รอบนี้คาดว่าจะระดมเงินมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ย 3.00%ต่อปี แบ่งเสนอขายประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ SCC19NA วันที่ 1,4 และ 7 ต.ค. ส่วนผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัททุกรุ่น จองซื้อวันที่ 25,28 และ 29 ต.ค. สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปจองซื้อวันที่ 30 – 31 ต.ค. 2562โดยมี ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ธนาคาร กสิกรไทย ธนาคาร กรุงเทพ ธนาคาร กรุงไทย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
และ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จัดอันดับเคดิตองค์กรและหุ้นกู้อยู่ที่ A+

อย่างไรก็ตาม บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ที่ “B” แนวโน้ม “ลบ” หลังจากบริษัทได้ทำจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 บริษัทได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ และอนุมัติให้บริษัทขยายระยะเวลาวันครบกำหนดของหุ้นกู้ ACAP19OA มูลค่า 768.6 ล้านบาท ออกไปอีก 366 วัน นับจากวันที่ 6 ต.ค. 2562 เป็นวันที่ 6 ต.ค. 2563   เพิ่มดอกเบี้ยใหม่ 1.50% จาก 6% เป็น 7.5% ต่อปี

นอกจากนี้ได้โอนเงินจ่ายชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ACAP19OA และ ACAP200207A (มูลค่า 716.1 ล้านบาท ซึ่งถึงกำหนดชำระเงินต้นวันที่ 6 ก.ค. 2563) ให้นายทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อชำระดอกเบี้ยดังกล่าวในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 แล้ว บริษัทมีกำหนดการชำระคืนหุ้นกู้ครั้งต่อไป สำหรับหุ้นกู้ ACAP202A ในวันที่ 7 ก.พ. 2563 โดยมีมูลค่า 395.3 ล้านบาท

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เตรียมออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8,500 ล้านบาท  เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ย ตลาดคาดการณ์ว่าในปี 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง 0.25% เหลือ 1.25% หลังจากปรับลดครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค. 0.25% จาก 1.75% และไม่เปลี่ยนแปลงในการประชุมเดือนก.ย. 2562  ส่วนการที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เป็นผู้จัดจำหน่าย   ได้รับค่าธรรมเนียม ส่วนหุ้นกู้ที่ออกมีส่วนหนึ่งมาชำระคืนหนี้เงินกู้ ส่งผลให้สินเชื่อชะลอตัว แต่การขายหุ้นกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ก็ไม่ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากแบงก์ไหน