BBL-KBANK ส่งซิกกำไรร่วง ราคาต่ำแต่ยังไม่ถึงเวลาเก็บ

HoonSmart.com>>นักลงทุนยังคงถล่มยับ 3 แบงก์ใหญ่ ราคาทรุด 2-3% บิ๊กยอมรับไตรมาส 3 รายได้ดอกเบี้ยลงตาม MOR-MRR ธนาคารกรุงเทพปรับตัวหารายได้ใหม่เสริม แถมไตรมาส 4 ยังไม่แน่นอน คาดสินเชื่อชะลอตามเศรษฐกิจ ธนาคารกสิกรไทยเผยเอ็นพีแอลเพิ่ม แต่ไม่เร่งเหมือนต้นปี ส่วน SCB โชคดีมีกำไรพิเศษ 1.1 หมื่นล้านบาท  บล.ฟินันเซียไซรัสเผยราคาแบงก์ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขึ้นไม่ไหวเจอข่าวปรับลดจีดีพีปีนี้ทุบรายวัน ล่าสุดกกร.หั่นเหลือ 2.7-3.0% มูลค่าหุ้นถูก ยังไม่ใช่จังหวะซื้อ ถ้าเก็บต้องกอดลงทุนยาว

ตลาดหุ้นวันที่ 2 ต.ค. 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทรุด 10.45 จุด หรือ 0.64% ปิดที่ 1,613.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายไม่มาก 42,249 ล้านบาท แรงขายหุ้นแบงก์ออกมาหนักหน่วง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ดิ่งแรงที่สุด 3.18% ปิดที่ 152 บาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รูดลง 2.60% ปิดที่ 168.50 บาท และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วง 2.13% ปิดที่ 115 บาท แม้ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่าจะมีกำไรพิเศษสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 จากการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตก็ตาม ทั้งนี้  SCB และ KBANK ทำจุดต่ำสุดใหม่ (นิวโล) ส่วน BBL จุดต่ำสุดรอบนี้อยู่ที่ 163.50 บาท

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า รายได้จากดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2562 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของธนาคาร MRR และ MOR ทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลงตาม ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรือลดลง เพราะปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความวุ่นวาย ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ก็กระทบถึงเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนต่างๆ ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อชะลอตัวตามไปด้วย

ประธานกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า ธนาคารจะต้องมองหารายได้อื่นๆเข้ามาชดเชยรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมบางรายการเพิ่มขึ้น หรือหาช่องทางเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ๆ รวมถึงเพิ่มช่องทางบริการใหม่เพื่อสร้างรายได้เข้ามาหรือสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น

“การปล่อยกู้เพิ่มก็เป็นสิ่งที่ควรขยาย แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้จะมีใครใช้หรือเปล่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้” นายเดชา กล่าว

ทางด้าน นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบทันทีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% ส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงตาม ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL) ยังคงเป็นไปตามสภาพปกติตามเศรษฐกิจ แต่เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นที่ไม่รวดเร็วเหมือนต้นปีที่ผ่านมา

“ดอกเบี้ย MOR และ MOR น่าจะมีผลต่อผลงานในไตรมาส 3 เพราะฐานลูกค้าที่ใช้ดอกเบี้ยทั้งสองมีสัดส่วนที่เยอะ  จะกระทบต่อรายได้ที่ลดลงตาม  ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เหมือนเรานำรายได้ที่ได้ไปช่วยเหลือลูกค้า แต่มองว่าการลดดอกเบี้ยยังไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นเท่าไหร่” นายพัชร กล่าว

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับทางบริษัท ช้อปปี้ ในการพัฒนาโซลูชั่นการเงินเพื่อตอบสนองการขยายตัวของตลาดอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้นด้วยการปล่อย “เงินกู้ธุรกิจออนไลน์” ให้ผู้ขายบนช้อปปี้ ร้านค้าสามารถกู้ได้วงเงินสูงสุดถึง 6 แสนบาท ตามเงื่อนไขของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำสุดที่ 9% ต่อปี ถูกที่สุดสำหรับการกู้ยืมสินเชื่อไม่มืหลักประกัน เพื่อที่จะช่วยผลักดันสินเชื่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ที่ 7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน ธนาคารมีฐานลูกค้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อยู่ที่ 1.2 ล้านราย ซึ่งกระจายอยู่ในแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการเจรจากับ LAZADA เพื่อเป็นพันธมิตรช่องทางการให้บริการสินเชื่อกับร้านค้าที่อยู่ใน LAZADA

น.ส.จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า ราคาหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวลงมาต่ำในรอบ 10 ปี แต่ยังไม่ใช่จังหวะซื้อ แม้ว่าราคาจะต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสมที่ให้ไว้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เช่น BBL อยู่ที่ระดับ 215 บาท KBANK 190 บาท และ SCB 150 บาท เพราะธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจที่ซึมลงและลากยาว ส่งผลให้สินเชื่อทั้งระบบขยายตัวเพียง 2% ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้นักลงทุนยังกังวลถึงกรณีธุรกิจถูก Disruption จาก FinTech ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ และฐานลูกค้าของธุรกิจแบงก์ยังมีขนาดใหญ่กว่ามาก

ขณะเดียวกันหุ้นแบงก์ปรับตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากข่าวการปรับลดจีดีพีปีนี้รายวัน ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และวันนี้ (2 ต.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 มาที่ 2.7-3.0% จากเดิมคาดไว้ 2.9-3.3% และลดเป้าส่งออกปีนี้เหลือ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิมคาด -1.0% ถึง 1.0%

อย่างไรก็ตามหุ้นธนาคารไม่ควรซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี(P/BV) แต่ราคายังปรับตัวขึ้นขึ้นไม่ไหว หากจะซื้อตอนนี้ต้องถือลงทุนระยะยาว

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ข่าวร้ายสะท้อนในราคาหุ้นแบงก์ไปบางส่วน  ส่งผลให้ธนาคารส่วนใหญ่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี แนะนำให้ซื้อ BBL ราคาเป้าหมาย 225 บาท SCB 160 บาท และ KKP ส่วน KBANK ให้ถือ ราคาเป้าหมาย 180 บาท