HoonSmart.com>>ปี 2562 น่าจะเป็นปีที่ระบบธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรสุทธิสูงสุดอีกปีหนึ่ง
เพราะไม่เพียงแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะมีกำไรพิเศษจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 จากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชัวิตให้กับกลุ่มเอฟดับบลิวดี มูลค่าทั้งสิ้น 9.27 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง ยังจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจำนวนมากเกิดจากบริษัทลูกร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) สูงที่สุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่าถึง 48,000 ล้านบาท และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงสุดที่สุดถึง 192,000 ล้านบาท ส่งผลให้หุ้น AWC กระโดดเข้าสู่การคำนวณดัชนี 50 (SET 50) ตั้งแต่วันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาด (10 ต.ค.2562)
บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย บล.บัวหลวง และบล. ภัทร เป็นทึ่ปรึกษาทางการเงินในการนำ AWC เข้าตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ทั้ง 3 บล. รวม บล.ไทยพาณิชย์ ด้วย ยังเป็นแกนนำผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกัน (ลีดอันเดอร์ไรท์) ในการเสนอขายหุ้นจำนวน 8,000 ล้านหุ้น ราคาขายหุ้นละ 6 บาท วันที่ 25-27 ก.ย.2562 และ 1-3 ต.ค. 2562 ร่วมกับผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 บริษัท เช่น บล.กรุงศรี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บล.ธนชาต และบล.เคทีบี (ประเทศไทย)
ผู้บริหารที่คุลกคลีอยู่ในวงการหุ้นไอพีโอ กล่าวว่า แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เสนอขายไอพีโอและเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมหาศาลให้กับบริษัทหลักทรัพย์ แบ่งเป็นค่าที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบล.กสิกรไทย บล.บัวหลวง และบล. ภัทร จำนวนเงินตามข้อตกลง โดยทยอยจ่ายเป็นรายงวด เช่น ตอนเซ็นสัญญาแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฯ ชำระงวดแรก ประมาณ 1 ใน 3 ครั้งที่ 2 อาจจะอีก 1 ปี ตอนยื่นไฟลิ่ง และเมื่อได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะต้องดูแลรับผิดชอบอีก 1 ปีหลังเข้าตลาดหลักททรัพย์ จะมีค่าธรรมเนียมอีกส่วนหนึ่งหรือรวมกับตอนทำสัญญาครั้งแรกก็ได้ตามข้อตกลง
ส่วน AWC ขายไอพีโอทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท แกนนำอันเดอร์ไรท์ ได้ค่าธรรมเนียมในการขายหุ้นและรับประกันการจำหน่าย ประมาณ 3% ของมูลค่าการขาย ส่วนอันเดอร์ไรท์ ก็ลดหลั่นกันไป 2.25-1.75% โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าอันเดอร์ไรท์ หลังจากขายไอพีโอ 3 วัน ซึ่งกรณีของ AWC ปิดจอง วันที่ 3 ต.ค. บริษัทหลักทรัพย์จะได้รับเงินไม่เกิน สัปดาห์ ซึ่งตกอยู่ในไตรมาส 4 /62
บริษัทหลักทรัพย์ยังจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการไอพีโอสูงต่อเนื่องถึงปี 2564 พิจารณาจากแนวโน้มหุ้นใหม่ที่มีขนาดใหญ่หลายแห่ง เตรียมเสนอขายหุ้นในไตรมาส 4 เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ไอพีโอจำนวน 1,765 ล้านบาท มีบล.กสิกรไทย บล. ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึษาทางการเงิน บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) จำนวน1,437.456 ล้านหุ้น ที่ปรึกษา คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร กรุงไทย
ส่วนในปี 2563 ได้แก่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)คาดว่าจะเสนอขายไอพีโอจำนวน 61,200 ล้านบาท ที่มีบล.ภัทร และบล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ตลาดไอพีโอเปิดแล้ว แต่จะเปิดกว้างแค่ไหน จะต้องรอดูราคาหุ้น AWC ในวันแรกของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า สามารถสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุน หรือคนจองซื้อเท่าไร ซึ่งจะมีผลต่อไอพีโอที่กำลังตามมาเป็นขบวน!!