HoonSmart.com>>นักลงทุนทุบหุ้นแบงก์ BBL-KBANK กลัวหนี้เสีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อเดือนส.ค.ยังคงเติบโตในอัตราชะลอลงตามเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ออกหุ้นกู้ชำระคืน ส่วนรายย่อย สินเชื่อบ้าน-เช่าซื้อรถยนต์ชะลอ คาดทั้งปีนี้สินเชื่อรวมขยายตัวในกรอบ 4-4.5% ไม่ถึง 4.5%ที่คาดไว้
ตลาดหุ้นวันที่ 26 ก.ย. 2562 ดัชนีบวก 8.37 จุด แต่มีการหุ้นแบงก์ใหญ่ออกมาหนัก KBANK ลดลง 1.24% ปิดที่ 159.50 บาท BBL รูดลง 2.22% ปิดที่ 176 บาท หลังจากประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงเพิ่มขึ้น โดย 3 กลุ่มที่ต้องติดตาม คือ ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์
“เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 3.4% ของสินเชื่อรวม ยังคงเพิ่มขึ้น เพราะมีเอ็นพีแอลไหลกลับ โดยอยู่ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี รายใหญ่ และต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากส่งออก”
สำหรับ TMB ทรุดลง 9.60% ปิดที่ 1.60 บาท จากการขึ้นเครื่องหมาย XTให้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนส.ค. 2562 ว่าสินเชื่อยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยรวมขยายตัวเพียง 3.84% เท่ากับในเดือนก.ค. ซึ่งยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน
สินเชื่อธุรกิจ ยังเผชิญแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อ สวนทางกับยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เติบโตในกรอบจำกัด ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทยที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การออกหุ้นกู้ยังเป็นทางเลือกระดมทุนที่มีต้นทุนที่ต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดใหญ่
“สินเชื่อรายย่อย จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อาจชะลอตัวลงจากผลของฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดรถยนต์ น่าจะซึมซับความต้องการของผู้ซื้อไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา”
สำหรับภาพรวมสินเชื่อในปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีโอกาสชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.0-4.5% (ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และชะลอลงจากที่เติบโต 5.7% ในปี 2561) แม้จะยังคงมุมมองว่า ภาคธุรกิจน่าจะทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่กรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจดังกล่าว น่าจะน้อยและล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ทั้งสินเชื่อระยะสั้นสำหรับเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ สินเชื่อ Trade Finance รวมถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว เนื่องจากแรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังค่อนข้างจำกัดท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งภายในและต่างประเทศ ขณะที่ แม้สินเชื่อรายย่อยอาจประคองทิศทางการขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี แต่คงต้องยอมรับว่า ทิศทางกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์สินเชื่อบางประเภทและลูกค้ารายย่อยบางกลุ่ม
ทางด้านเงินฝากภาพรวมของธนาคาร 14 แห่ง ในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 4.72% จากเดือนก่อนหน้า 2.84 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดคงค้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากทรงตัวอยู่ที่ระดับ 96.8% เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2561 ที่ 97.7% สะท้อนภาพการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายให้สอดคล้องกับโมเมนตัมของสินเชื่อที่เลื่อนจังหวะการฟื้นตัวออกไปตามภาพเศรษฐกิจ
การเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างเงินฝากในเดือนส.ค. นี้ นำโดย เงินฝากของกลุ่มธนาคารขนาดกลาง ซึ่งขยับขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ส่วนเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่มีทิศทางชะลอลงหลังจากเร่งตัวขึ้นไปมากแล้วในเดือนก่อนตามอานิสงส์ของแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษบางตัวที่ออกมาในระหว่างเดือน ส่วนสถานการณ์แคมเปญเงินฝากพิเศษที่ออกมาในเดือน ส.ค. ส่วนมากมีระยะเวลาการฝากที่สั้นลง และมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากบางตัว สะท้อนภาพการบริหารสภาพคล่องและดูแลต้นทุนทางการเงินให้มีความสอดคล้องกับการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรายย่อยและธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไประยะ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม