กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% ตามคาด ลดเป้าเศรษฐกิจปีนี้โตแค่ 2.8%

HoonSmart.com>>บอร์ดกนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 62 โต 2.8% จาก 3.3% และปี 63 โต 3.3%เหตุส่งออกหดตัวมากกว่าคาด จับตาค่าเงินบาทใกล้ชิด พร้อมใช้มาตรการการถ้าจำเป็น ธนาคารกสิกรไทยหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจลงอยู่ที่ 2.7-2.9% คาดเงินบาทไม่แข็งไปมากกว่า 30 บาท/ดออลาร์ ล่าสุดแข็งที่สุดในเอเชีย 5.6% สวนทางเงินทุนไหลออกจากบอนด์-หุ้นไทยเฉียด 8 หมื่นล้านบาท จับตาการเจรจาการค้า กดดันราคาทอง เงินบาทอ่อนค่าลง บล.กสิกรไทยเผยราคาน้ำมันขึ้น 10 เหรียญ กระทบจีดีพี1% หุ้น PTTEP-PTTGC-ไฟฟ้าได้ประโยชน์

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 25 ก.ย. 2562 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี การตัดสินใจครั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3% จากการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวกว่าคาด ส่งผลถึงอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น ด้านต่างประเทศ จากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

“คาดว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้ จะหดตัว -1.0% จากเดิมคาด 0% และจะขยายตัว 1.7% ในปี 2563 จากเดิม คาด 4.3% ส่วนการนำเข้าคาดว่าหดตัว -3.6% จากเดิมคาด -0.3% ก่อนจะขยายตัว 3.5% ในปี 2563 จากคาดการณ์เดิม 4.8% พร้อมปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เหลือโต 3.3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 3.7%”

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินทุนในหุ้นและพันธบัตรยังคงไหลออกสุทธิ

ทางด้านธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จัดงานสัมมนา “ทิศทางค่าเงินและหุ้นเด่นไตรมาสสุดท้าย” โดย นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ลดลงมาที่ 2.7-2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะโต3.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ กดดันการส่งออก ในช่วง 8 เดือนแรก ติดลบถึง 2% คาดทั้งปีนี้จะหดตัว จากเดิมที่คาดว่าจะโต 0% รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก คาดว่าในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะไม่แข็งค่าไปมากกว่า 30 บาท

น.ส.วรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 27 ส.ค. 2562 ตลาดเงินและตลาดทุนมีความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ส่วนผลให้ค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่ามากที่สุดถึง 5.4% และในวันที่ 24 ก.ย. สถานการณ์การค้าผ่อนคลายลง ส่งผลให้ค่าเงินที่เคยอ่อนค่าลง กลับมาแข็งค่าเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ แต่เงินบาทไทยยังคงแข็งต่อเนื่องและมากที่สุด 5.6% ส่วนทางเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย 77,658 ล้านบาทและขายหุ้นออก 1,488 ล้านบาท

” ต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เพราะราคาทองปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี จึงมีการส่งออก ขณะนี้ใกล้ถึงแนวต้าน 1,550 ดอลลาร์/ออนซ์ คาดว่าไม่น่าผ่าน ต้องจับตาการเจรจาการค้า หากมีผลดี จะส่งผลให้ราคาทองอ่อนตัวลง ลดการส่งออก เชื่อว่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง”

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 1% และเป็นผลดีต่อหุ้นพลังงาน เช่น PTTEP ,PTTGC,โรงกลั่นและไฟฟ้า แต่เกิดผลลบต่อธุรกิจขนส่ง เช่น การบินไทย(THAI)จะขาดทุนมากขึ้น โรงงานแก้วใช้พลังงานถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องตะวันออกกลางจะเป็นภัยคุกคามที่ยังคงอยู่ต่อไป