20 กองทุนตะลุมบอลปรับพอร์ต 10 ต.ค. ทิสโก้คาดแห่ซื้อ AWC 700 ลบ.

HoonSmart.com>>10 ต.ค. 2562 เป็นวันที่หุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งคงจะทำให้ตลาดอลหม่านมากทีเดียว เนื่องจาก AWC เป็นที่ต้องการของทั้งนักลงทุน และกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี ( Passive Fund และ Index Fund ) เป็นเพราะ…

AWC มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป เกือบ 2 แสนล้านบาท เข้าหลักเกณฑ์หุ้นใหม่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1% ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) หรือขนาดใหญ่ติด 1 ใน 20 ของดัชนี SET50 จะได้รับเลือกเข้าสู่การคำนวณ SET 50 โดยอัตโนมัติ ตลาดจะประกาศให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไป  ทำให้หุ้นใน SET 50 และ SET 100 ที่มีมาร์เก็ตแคปน้อยที่สุดถูกลดชั้น   เพื่อนำหุ้น AWC มารวมในการคำนวณดัชนี SET50 ในวันทำการที่ 3 (T+3) นับจากวันที่มีการซื้อขายเป็นวันแรก ตามหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน 2562

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น กระโดดเข้า SET 50 ระหว่างรอบ ไม่ต้องรอประกาศผลคัดเลือกทุกวันที่ 1 ม.ค.และ 1 ก.ค.ของทุกปีตามปกติ ทำให้กองทุนที่ลงทุนตามดัชนี 50 หรือ SET 50 จะต้องเข้าซื้อหุ้น AWC ในวันแรกของการเข้าซื้อขาย เพื่อปรับพอร์ตให้หุ้นมีน้ำหนักเท่ากับหรือใกล้เคียงกับ SET 50 ใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) 8 แห่งที่บริหารกองทุนประเภทนี้ รวม 20 กอง มูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 48,790 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตใหม่ทั้งหมดในวันแรก (10 ต.ค.) ด้วย 2 เหตุผลใหญ่คือ

1.บลจ.บัวหลวง บลจ.กรุงไทย บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ธนชาต บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดีน  สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) ตุนหุ้น AWC บางส่วนไว้ในพอร์ตแล้ว เพราะเป็น 1 ใน 13 สถาบันที่จองซื้อไอพีโอทั้งหมด 3,454 ล้านหุ้น หรือประมาณ 50% ของไอพีโอทั้งหมด (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

2.บลจ.ที่บริหารกองทุน SET50 ประเภท Enhance ให้น้ำหนักในหุ้นแต่ละตัวไม่ตรงกับดัชนี SET50 ทั้งหมด  เพื่อหวังผลตอบแทนมากกว่าคู่แข่ง

“กองทุน SET50 ได้จองซื้อหุ้น AWC จำนวนหนึ่งไว้แล้วตอนไอพีโอ เมื่อหุ้นเข้าเทรดในวันแรก จะประเมินพอร์ตอีกครั้งว่าได้น้ำหนักตามสัดส่วนของดัชนีหรือไม่ หากยังขาดอยู่ก็เข้าซื้อหุ้นในตลาดเพิ่ม นอกจากนี้หุ้นตัวนี้ สถาบันชอบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ” ผู้จัดการกองทุนกล่าว

ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ “อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดใหญ่รายหนึ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังขายไอพีโอในช่วงปลายเดือนก.ย. และจะเข้าซื้อขายในตลาดช่วงต้นเดือนต.ค.นี้ นอกจากจะส่งผลให้สภาพคล่องไหลออกจากตลาดไปบางส่วนแล้ว ยังมีผลให้รายชื่อหุ้นในดัชนี SET50 และ SET100 เปลี่ยนแปลงไปตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ ที่จะนำหุ้นใหม่เข้ามาคำนวณในดัชนี SET50 มีผลต่อเนื่องถึง SET100 ณ สิ้นวันที่จะเริ่มซื้อขายเป็นวันแรก และจะนำหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปน้อยที่สุดออกจากการคำนวณดัชนีไป ซึ่งอาจทำให้ช่วงนี้หุ้นไทยผันผวนมากกว่าปกติ

“หุ้นใน SET 50 ที่มีมาร์เก็ตแคปน้อยที่สุดตอนนี้คือ KKP ตามด้วย BPP และ DELTA ส่วนใน SET 100 คือ BEAUTY ตามด้วย ANAN และ PSL คาดว่าตลาดจะเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหุ้นในดัชนี SET50 และ SET100 ล่วงหน้า 1 วันก่อนที่หุ้นใหม่จะเข้ามาซื้อขายในตลาด”

นอกจากนี้ กองทุนที่ลงทุนตามดัชนี ต้องมีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นตัวใหม่เข้าไป ขณะเดียวกันก็จะต้องเกลี่ยน้ำหนักหุ้นตัวอื่นๆ ในดัชนีลงด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีบลจ.จำนวน 8 แห่ง ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) คิดเป็นสัดส่วน 90% ของอุตสาหกรรม มีกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี SET50 รวม 17 กอง คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ (NAV) รวมประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท คำนวณว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าหุ้นตัวใหม่เกือบ 700 ล้านบาท ขณะที่หุ้นที่ถูกหลุดออกไปจากดัชนี SET50 มีเม็ดเงินไหลออกประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 500 ล้านบาท จะไหลออกจากหุ้นตัวอื่นๆ ในดัชนี SET50 ลดหลั่นกันไปตามมูลค่าตลาดของหุ้นแต่ละตัว

ขณะเดียวกันเงินที่ไหลออกจากหุ้นแต่ละตัวในดัชนี SET50 นั้นไม่เพียงแต่พิจารณามาร์เก็ตแคปเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประกอบด้วย หากใช้ข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด คือ TOA ประมาณ 4.7% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน, BPP 3.4% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน, GLOW 3.1% , HMPRO 2.6% , AOT 2.5% , ADVANC 2.4% , DELTA 2.3% , EGCO 2.3% , CPN 2.1% และ PTT คาดว่าจะมีเงินไหลออก 2.1% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน

นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปก็มีความต้องการหุ้น AWC จำนวนมากเช่นกัน จนจัดสรรหุ้นให้ไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าราคาขายหุ้นละ 6 บาทแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบันก็ตาม  บริษัทระดมทุนสูงถึง 48,000 ล้านบาท เปิดขายหุ้นไอพีโอจำนวน 6,957 ล้านหุ้นและอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 1,043 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย.2562 นี้

 

หุ้น AWC ได้รับความสนใจ เพราะชื่อเสียงของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” รวมถึงคุณภาพทรัพย์สินของบริษัท เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นเยี่ยม  ตั้งอยู่กลางกรุงเทพ  และยังมีโอกาสซื้อของดี ๆ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เพิ่มเติม สร้างมูลค่าเพิ่มระยะยาวที่มั่นคง บล.กสิกรไทย คาดว่า AWC เป็นผู้พัฒนาโรงแรมระดับกลางถึงหรูรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะมีห้องพักประมาณ 8,506 ห้อง ในปี 2568 จากโรงแรม 27 แห่ง ปัจจุบันเปิดดำเนินการอยู่จำนวน 4,421 ห้อง โรงแรม 10 แห่ง ทุกโรงแรมบริหารจัดการโดยผู้ประกอบกิจการบริหารจัดการโรงแรมระดับโลก เช่น Marriott และ IHG สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย และพอร์ตยังมีการผสมผสานลงตัวด้วยทรัพย์สิน ฟรีโฮล 90% ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดีกว่าหุ้นโรงแรมขนาดใหญ่อื่นๆในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง CENTELและ MINT อย่างนี้แล้วต้องมีหุ้น AWC ติดพอร์ตระยะยาวไว้บ้าง

อ่านประกอบ

AWC เคาะราคา 6 บาท ขาย 25-27 ก.ย. สถาบันเก็บ 50%

ตีค่า AWC สูง 2 แสนล้านบาท หุ้นฮอต! โตมั่นคง เหมาะถือยาว