กสิกรฯ คาดเงินบาทแข็งต่อ สวนทางส่งออกดิ่ง อานิสงส์เกินดุลการค้าสูง  

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยส่งออกเดือนส.ค.หดตัว 4% รวม 8 เดือน ร่วง 2.2% คาดทั้งปี 2562 อยู่ในกรอบล่างประมาณการ -2.0 ถึง 1.0%  ส่งออกทองบูม หนุนเกินดุลการค้าสูง  กดดันค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง   กระทรวงพาณิชย์ออกแรงกดันส่งออกเต็มที่คาดทั้งปีโต 0%

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ให้หดตัว 2.2% ต่อปี และเดือนส.ค.กลับมาหดตัวที่ 4.0% ต่อปี เป็นการหดตัวลึกในสินค้าส่งออกหลัก แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวเป็นบวกสวนทางกับภาพรวม สะท้อนถึงผลบวกจากสงครามการค้าที่มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตลาดจีน

ขณะที่การส่งออกทองคำในเดือนส.ค. ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูงตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น หากหักทองคำออก  การส่งออกในเดือนส.ค. จะหดตัว 9.8% ต่อปี จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยังมีความต้องการทองคำในตลาดโลกในระดับสูง ราคายังมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า ในเดือนก.ย. ยังคงมีการส่งออกทอง เป็นแรงหนุนต่อมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

” แม้การส่งออกทองคำจะขยายตัวสูงต่อเนื่อง แต่คงไม่เพียงพอที่ชดเชยผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อปริมาณการค้าโลก คาดว่าการส่งออกในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ -2.0 ถึง 1.0% แต่ดุลการค้ายังเกินดุลสูง เป็นแรงหนุนค่าเงินบาทให้แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

สำหรับการเกินดุลการค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลจากทองคำ นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไทยส่งออกทองคำมากกว่าการนำเข้า หากหักผลจากการส่งออก-นำเข้าทองคำ การเกินดุลการค้าจะหายไปราวครึ่งหนึ่ง และในเดือนก.ค. ขาดดุลการค้า ดังนั้น การเกินดุลการค้าโดยรวมที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ความต้องการสภาพคล่องเงินบาทยังมีอยู่มากทำให้อยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. มีมูลค่า 21,914.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 4.0% จากที่ขยายตัว 4.28% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดคาดจะหดตัว -1.8 ถึง -2.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,862.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 14.62% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2,052.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกมีมูลค่ารวม 166,090.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 2.19% การนำเข้า 159,984.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 3.61% แต่ยังเกินดุลการค้า 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนส.ค.กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกในเดือนก.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยผลของสงครามการค้าได้นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้ส่งออกหลายตลาดหดตัว โดยเฉพาะไปตลาดอาเซียน-5 ตลาด CLMV และเอเชียใต้ที่หดตัวในระดับสูง

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18% ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยังคงหดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนส.ค.

การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค หลายตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 5.8%, ออสเตรเลีย 18.4% และตะวันออกกลาง 5.3% ขณะที่ตลาดจีน ลดลง 2.7% ตลาดญี่ปุ่น ลดลง 1.2% ตลาดอินเดีย ลดลง 18% และตลาดยุโรป ลดลง 6.2% ที่น่ากังวลคือตลาดอินเดีย เพิ่งกลับมาติดลบครั้งแรกในเดือนส.ค. มากถึง 18% เพราะสินค้าอุตสาหกรรมติดลบมาก

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญยังขยายตัวได้ดีทั้งปริมาณและราคา เช่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อพยายามรักษาเป้าหมายการขยายตัวในปี 62 ไว้ที่ 3%  คาดว่ายังมีโอกาสที่จะไม่ติดลบ แม้ว่าในช่วง 8 เดือนแรก จะติดลบไปแล้ว 2.19%  ก็ตาม  อาจจะขยายตัว 0%  ถ้าแต่ละเดือนที่เหลือส่งออกได้มูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ยังพอได้  แต่ถ้าจะให้ได้ 3% นั้น แต่ละเดือนที่เหลือต้องทำให้ได้ 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งดูแล้วน่าจะลำบาก ปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่มาก